สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มีการมอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ข้อมูลอาคารอันทรงคุณค่าให้เป็นที่รู้จักและได้รับการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ของสังคมโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้ครอบครองดูแลรักษาอาคาร จากการที่ได้รับพระราชทานรางวัลจากองค์อุปถัมภ์ สมาคมสถาปนิกสยามฯ มาอย่างต่อเนื่องจนถึงในปัจจุบัน ที่ผ่านมาในแต่ละปีประเภทของรางวัล หลักเกณฑ์ในการพิจารณา และวิธีการดำเนินการคัดเลือกอาคารรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น อาจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างด้วยเหตุผลความจำเป็นตามสถานการณ์ด้านการอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ จากการพิจารณาของคณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมที่ผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่ตามวาระ

จากการที่ชื่อของรางวัลคือ “รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น” ซึ่งมีนัยว่าอาคารที่ได้รับรางวัลนี้คืออาคารที่มีการอนุรักษ์มาเป็นอย่างดี จึงเท่ากับเป็นการสื่อให้เห็นว่าในบรรดาอาคารที่ได้รับรางวัลนี้มาทั้งหมดล้วนแต่มีความดีเด่นในเรื่องของการอนุรักษ์อาคารอย่างเท่าเทียมกัน หากแต่ในทางปฏิบัตินั้นนอกจากได้มีการมอบรางวัลแก่อาคารที่มีการอนุรักษ์อย่างดี ก็ยังได้มอบรางวัลให้แก่อาคารที่มีคุณค่าแต่มีความเสี่ยงที่จะถูกรื้อทำลายไปด้วยความไม่ตระหนักถึงคุณค่าของผู้ที่ครอบครองดูแลอยู่ หรือเป็นการให้รางวัลแก่อาคารที่ยังมิได้มีการอนุรักษ์อย่างเต็มรูปแบบ แต่มุ่งหวังว่าเมื่อได้รับรางวัลแล้วจะนำไปสู่กระบวนการในการอนุรักษ์ต่อไปด้วย จึงปรากฏว่ามีโครงการอนุรักษ์ที่ดีหลายโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการอนุรักษ์อาคารนั้นจะไม่มีโอกาสได้รับกำลังใจจากรางวัลนี้ เนื่องจากเป็นอาคารที่เคยได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นมาแล้ว นอกจากนี้ในข้อเท็จจริงก็ยังมีงานออกแบบที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคุณค่าของมรดกทางศิลปสถาปัตยกรรมแต่ยังไม่เข้าข่ายการพิจารณาให้รางวัลมาก่อนด้วย เช่น การประยุกต์การใช้สอยที่มีการต่อเติมอาคาร หรือการก่อสร้างอาคารใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ร่วมกันกับอาคารอนุรักษ์

ด้วยข้อมูลความเป็นมาข้างต้น ในวาระของปี ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ จึงได้มีการ “มองเก่า ให้ใหม่” ปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาการมอบรางวัลให้เข้ากับความต้องการในปัจจุบันอีกครั้งโดยได้กำหนดให้มีการแบ่งรางวัลออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้
ประเภท ก. งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน
ประเภท ข. งานออกแบบใหม่ในบริบทการอนุรักษ์
ประเภท ค. บุคคลและองค์กรอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น

เกณฑ์การให้รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ในประเภท ก. ประจำปี ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ ได้มีการปรับปรุงจากเกณฑ์การให้รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นเดิม และเกณฑ์การให้รางวัล 2019 UNESCO Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation โดยมีการแบ่งรางวัลออกเป็น ๔ ระดับ ได้แก่ ระดับดีเยี่ยม ระดับดีมาก ระดับดี และระดับสมควรได้รับการเผยแพร่ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่การมอบรางวัลเป็นรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นระดับเดียวเท่ากันหมด และได้มีการเพิ่มประเภทรางวัลประเภท ข. สำหรับงานออกแบบใหม่ในบริบทการอนุรักษ์เป็นรางวัลใหม่ในครั้งนี้ด้วย

สำหรับการนำผลการตัดสินรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ ในนิทรรศการ “มองเก่า ให้ใหม่” อันสืบเนื่องมาจากงานสถาปนิก ๖๔ ในครั้งนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางไปจากเดิมที่เคยปฏิบัติต่อเนื่องกันมาด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยการนำเสนอมุมมองการถ่ายทอดคุณค่าของมรดกสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ของสถาปนิกนักถ่ายภาพ ๙ ท่าน ผ่านผลงานการถ่ายภาพที่ไม่จำกัดเทคนิคของสถาปนิกรับเชิญแต่ละท่าน จึงเรียกว่าเป็น นิทรรศการภาพถ่ายรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔

ข้อกำหนดและเกณฑ์การพิจารณารางวัล 


รางวัลประเภท ก. งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน เป็นรางวัลที่ให้กับงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมหรือชุมชนที่ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง เป็นตัวอย่างอันดี สมควรได้รับการยกย่องและเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยรางวัลแบ่งออกเป็น ๔ ระดับ ได้แก่

  • รางวัลงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ระดับดีเยี่ยม
    เป็นรางวัลที่ให้กับงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมหรือชุมชน ที่ประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ทุกด้าน ส่งผลดีต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ตลอดจนส่งผลดีต่อการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานและนโยบายการอนุรักษ์ ในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ
  • รางวัลงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ระดับดีมาก
    เป็นรางวัลที่ให้กับงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมหรือชุมชน ที่ประสบผลสำเร็จอย่างดีมาก ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ทุกด้าน รวมถึงส่งผลดีต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมในท้องถิ่น
  • รางวัลงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ระดับดี
    เป็นรางวัลที่ให้กับงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมหรือชุมชน ที่ประสบผลสำเร็จดี ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ทุกด้าน
  • รางวัลงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ระดับสมควรได้รับการเผยแพร่
    เป็นรางวัลที่ให้กับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมหรือชุมชน ที่ประสบผลสำเร็จดี ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ สมควรแก่การเผยแพร่

คุณสมบัติของงานที่เข้ารับการพิจารณารางวัล
คุณสมบัติของงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมหรือชุมชนที่สามารถเข้ารับการพิจารณารางวัลมีดังนี้

  • สถาปัตยกรรมหรือชุมชนที่เข้ารับการพิจารณารางวัล ควรเป็นสถาปัตยกรรมหรือชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ควรมีอายุไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี และมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าในด้านที่ต้องการนำเสนอ
  • สถาปัตยกรรม : สถาปัตยกรรมที่เข้ารับการพิจารณารางวัล ไม่จำกัดการใช้สอย และไม่จำกัดขนาดของอาคาร
  • ชุมชน : ย่านชุมชนเก่าที่เข้ารับการพิจารณารางวัล อาจตั้งอยู่ในเขตเมืองหรือพื้นที่ชนบทก็ได้ และไม่จำกัดขนาดของชุมชน
  • งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมหรือชุมชนที่เข้ารับการพิจารณารางวัล เป็นงานที่มีเจ้าของหรือผู้ดำเนินงานในรูปของบุคคล องค์กร หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน หรือกลุ่มองค์กรที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ
  • งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมหรือชุมชนที่เข้ารับการพิจารณารางวัล ควรเป็นงานมีการดำเนินงานเสร็จสมบูรณ์ ภายใน ๑๐ ปี ก่อนการประกาศผลรางวัล และควรมีการเปิดใช้งานมาแล้วอย่างน้อย ๑ ปี

หลักเกณฑ์ในการพิจารณารางวัล
งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมหรือชุมชน ที่เข้ารับการพิจารณารางวัล ควรมีคุณสมบัติไม่น้อยกว่าเกณฑ์ต่อไปนี้

  • เป็นงานอนุรักษ์ที่มีความเข้าใจในคุณค่าของแหล่งมรดกอย่างดียิ่ง โดยมีลักษณะดังนี้
    • เป็นงานที่สามารถถ่ายทอดคุณค่าความสำคัญ รวมถึงภูมิปัญญาและจิตวิญญาณของแหล่งมรดกได้เป็นอย่างดี
    • เป็นงานที่สามารถสื่อความหมายและนำเสนอแหล่งมรดกในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งความหมายทางด้านนวัฒนธรรม สังคม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และวิทยาการต่าง ๆ ตลอดจนความหมายเชิงนามธรรมของแหล่งมรดก
    • เป็นงานที่มีการใช้งานอาคารและพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ช่วยส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าของแหล่งมรดก ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
  • เป็นงานอนุรักษ์ที่มีการใช้เทคนิควิธีการอนุรักษ์ที่เหมาะสม โดยมีลักษณะดังนี้
    • เป็นงานที่มีการเลือกใช้เทคนิควิธีการอนุรักษ์ ที่ช่วยสะท้อนคุณค่าความสำคัญของแหล่งมรดกได้เป็นอย่างดี
    • เป็นงานที่มีการเลือกใช้วัสดุ วิธีการอนุรักษ์และฝีมือช่างที่มีความเหมาะสม
    • หากเป็นงานที่มีการต่อเติมหรือใส่องค์ประกอบใหม่ลงในอาคารหรือพื้นที่แหล่งมรดก จะต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยเคารพต่อคุณลักษณะสำคัญของอาคารหรือพื้นที่
  • เป็นงานอนุรักษ์ที่ส่งผลดีต่อสังคม หรือส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย โดยมีลักษณะดังนี้
    • เป็นงานที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการอนุรักษ์
    • เป็นงานที่ให้ความสำคัญกับการพิจารณาประเด็นปัญหาต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะประเด็นที่มีความซับซ้อนและอ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ
    • เป็นงานที่มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ดำรงอยู่ได้เป็นอย่างดี และนำไปสู่การรักษาและการใช้งานแหล่งมรดกในอนาคต
    • กระบวนการอนุรักษ์และผลที่ได้จากการอนุรักษ์ ช่วยให้สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่นสามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง
    • เป็นงานที่เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการอนุรักษ์ และอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านนโยบาย ระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

รางวัลประเภท ข. งานออกแบบใหม่ในบริบทการอนุรักษ์ เป็นรางวัลที่ให้กับงานออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการออกแบบที่สามารถผสมผสานให้เข้ากับบริบททางประวัติศาสตร์ได้อย่างดียิ่ง สมควรได้รับการยกย่องและเผยแพร่สู่สาธารณะ

คุณสมบัติของงานที่เข้ารับการพิจารณารางวัล
คุณสมบัติของงานออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ที่สามารถเข้ารับการพิจารณารางวัลมีดังนี้
  • งานออกแบบใหม่ที่สามารถเข้ารับการพิจารณารางวัล จะต้องเป็นงานที่มีแนวคิดการออกแบบในบริบทการอนุรักษ์หรือเป็นงานออกแบบที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีบริบททางประวัติศาสตร์
  • งานออกแบบใหม่ที่สามารถเข้ารับการพิจารณารางวัล จะต้องเป็นงานที่มีการออกแบบอาคาร ส่วนต่อเติม พื้นที่ หรือโครงสร้างที่ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ เข้าไปในอาคารหรือพื้นที่ที่มีบริบททางประวัติศาสตร์
  • งานออกแบบควรเป็นงานมีการดำเนินงานเสร็จสมบูรณ์ ภายใน ๑๐ ปี ก่อนการประกาศผลรางวัล และควรมีการเปิดใช้งานมาแล้วอย่างน้อย ๑ ปี
  • งานออกแบบใหม่จะต้องไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้าง หรือองค์ประกอบที่มีคุณค่าของอาคารเดิมหรือพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่งานออกแบบนั้นตั้งอยู่
  • งานออกแบบใหม่ที่ทำขึ้นเพื่อลอกเลียนแบบองค์ประกอบเดิมโดยมิได้มีเนื้อหาสาระสำคัญเชิงอนุรักษ์ หรือเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิงที่อิงบริบททางประวัติศาสตร์ (theme park) ไม่สามารถรับการพิจารณารางวัลนี้ได้

หลักเกณฑ์ในการพิจารณารางวัล
งานออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ที่เข้ารับการพิจารณารางวัล ควรมีคุณสมบัติไม่น้อยกว่าเกณฑ์ต่อไปนี้
  • เป็นงานออกแบบใหม่ที่มีแนวคิดในการออกแบบที่โดดเด่น แสดงถึงการออกแบบใหม่ให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่มีบริบททางประวัติศาสตร์ ด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์และเกิดการพัฒนาสิ่งใหม่
  • เป็นงานออกแบบใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะที่มีคุณค่าของพื้นที่ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และสังคม
  • โปรแกรมการใช้สอยของงานออกแบบใหม่มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทแวดล้อม
  • เป็นงานออกแบบใหม่ที่มีความกลมกลืนกับสิ่งก่อสร้างประวัติศาสตร์หรือองค์ประกอบทางธรรมชาติที่มีอยู่เดิม
  • เป็นงานออกแบบใหม่ที่มีการเลือกใช้ และการควบคุมคุณภาพของวัสดุและเทคนิคการสร้างอาคาร โดยอาจจะปรับใช้วัสดุและเทคนิควิธีแบบร่วมสมัย หรือแบบพื้นถิ่น
  • กระบวนการและผลที่ได้รับจากงานออกแบบ มีส่วนช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมและสังคมในท้องถิ่นให้ดำรงอยู่
  • เป็นงานออกแบบใหม่ที่ส่งผลดีต่อแนวทางการออกแบบและการสร้างงานสถาปัตยกรรม หรืออาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

รางวัลบุคคลและองค์กรอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ยังคงเดิมดังเช่นที่เคยมอบรางวัลมาในอดีตไม่มีการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เป็นรางวัลที่ให้กับบุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมอย่างดียิ่ง เป็นแบบอย่างอันสมควรแก่การยกย่องเชิดชูเป็นเกียรติประวัติต่อไป

คุณสมบัติของบุคคล/องค์กรที่เข้ารับการพิจารณารางวัล
คุณสมบัติของบุคคล/องค์กรที่สมควรเข้ารับการพิจารณารางวัลมีดังนี้
  • บุคคลหรือองค์กร ผู้มีประสบการณ์ในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและชุมชน ได้แก่ ผู้ออกแบบ ผู้ดำเนินการ หรือช่างฝีมือ
  • บุคคลหรือองค์กร ผู้ริเริ่มผลักดันให้มีการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง
  • บุคคลหรือองค์กร ผู้ให้การสนับสนุนโครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ระดับดีมาก

1905 เฮอร์ริเทจ คอนเนอร์ กรุงเทพมหานคร


ช่างภาพ ศรีรัฏฐ์ สมสวัสดิ์


บ้านขุนพิทักษ์รายา จังหวัดปัตตานี


ช่างภาพ อภินัยน์ ทรรศโนภาส

ระดับดี


บ้านหลวงสาทรราชายุกต์ กรุงเทพมหานคร


ช่างภาพ ศรีรัฏฐ์ สมสวัสดิ์

ระดับสมควรได้รับการเผยแพร่


โรงแรมไมอามี่ กรุงเทพมหานคร


ช่างภาพ อภินัยน์ ทรรศโนภาส