พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน กรุงเทพมหานคร




กระบวนการอนุรักษ์ประกอบด้วยการศึกษาทางด้านโบราณคดี การรวบรวมข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ของอาคารและที่ตั้ง การศึกษาโครงสร้างและองค์ประกอบอาคาร ตลอดจนมีการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ ผลที่ได้คือสามารถรักษาเปลือกนอกอาคารและองค์ประกอบหลักไว้ได้เป็นส่วนมาก สามารถจัดการอาคารและองค์ประกอบทางกายภาพภายในผังบริเวณ




ที่ตั้ง
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ
"อาคารอนุรักษ์ 1 ออกแบบโดย หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ
อาคารอนุรักษ์ 2, 3 และ 4 ไม่ปรากฏหลักฐาน"

ผู้ออกแบบอนุรักษ์ / ปรับปรุง
บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด

ผู้ครอบครอง
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ปีที่สร้าง
อาคารอนุรักษ์ 1 สร้างเมื่อพุทธศักราช 2493
อาคารอนุรักษ์ 2 สร้างเมื่อพุทธศักราช 2494
อาคารอนุรักษ์ 3 และ 4 ไม่ปรากฏหลักฐาน


        พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นส่วนหนึ่งของอดีตสถานีรถไฟบางกอกน้อย สร้างขึ้นในพุทธศักราช 2446 เพื่อเป็นสถานีรถไฟหลักของเส้นทางรถไฟสายใต้ ในขณะที่สถานีรถไฟกรุงเทพที่หัวลำโพงเป็นสถานีรถไฟหลักของเส้นทางสายเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กรมรถไฟได้สร้างสะพานพระราม 6 ในพุทธศักราช 2468 เพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟสายใต้และสายเหนือเข้าด้วยกัน ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานพระราม 6 อาคารและสิ่งปลูกสร้างในย่านสถานีรถไฟบางกอกน้อยถูกระเบิดเสียหาย ยกเว้นอาคารสถานีรถไฟและถังเก็บน้ำรถจักร ภายหลังจากสงครามยุติลง กรมรถไฟได้ดำเนินการซ่อมแซมสะพานพระราม 6 ขยายย่านสถานีรถไฟบางกอกน้อยตามแผนที่ได้วางไว้ตั้งแต่ก่อนสงครามเพื่อรองรับจำนวนขบวนรถที่เพิ่มมากขึ้น เปลี่ยนชื่อจากสถานีบางกอกน้อยเป็น "สถานีธนบุรี" พร้อมกับสถานีและที่หยุดรถไฟบางแห่งให้ตรงกับทำเนียบท้องที่ของส่วนภูมิภาคเมื่อวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2485 สร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อยขึ้นใหม่ในพุทธศักราช 2493 ส่วนอาคารสถานีรถไฟบางกอกน้อยหลังแรกได้ถูกรื้อลงในเวลาต่อมา หลังจากสถานีใหม่สร้างเสร็จได้ไม่นาน ในวันที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาที่สถานีรถไฟธนบุรีเพื่อประทับรถไฟพระที่นั่งไปยังพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และเสด็จกลับโดยรถไฟพระที่นั่งในวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 เพื่อเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลังจากนั้นสถานีรถไฟธนบุรีได้รองรับการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าเรื่อยมา จนกระทั่งการขนส่งและการเดินทางโดยทางรถยนต์และทางอากาศได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้สถานีรถไฟธนบุรีค่อย ๆ ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อมาในพุทธศักราช 2544 กรมศิลปากร ได้ประกาศเขตโบราณสถานสถานีรถไฟธนบุรี เนื้อที่ 60 ไร่ 15 ตารางวา ภายในพื้นที่มีอาคารสถานีรถไฟธนบุรี อาคารรับส่งสินค้า 2 หลัง อาคารโกดังเก็บสินค้า 1 หลัง และรางรถไฟ ต่อมาในพุทธศักราช 2547 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับมอบพื้นที่ 33 ไร่ จากการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงอาคารทั้ง 4 หลัง และพื้นที่โดยรอบ เพื่อดำเนินการเป็นสถาบันการแพทย์สยามิน ทราธิราช ซึ่งก่อนที่จะดำเนินการนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยได้สร้างสถานีรถไฟธนบุรีแห่งใหม่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของสถานีรถไฟธนบุรีเอาไว้แล้ว หลังจากนั้นคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ดำเนินการสร้างอาคารตามแผนที่ได้วางไว้ รวมทั้งปรับปรุงฟื้นฟูอาคารทั้ง 4 หลัง เพื่อเป็นสถานที่ให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์พื้นที่บริเวณคลองบางกอกน้อยวังหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 และศิริราชพยาบาลในชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ประกอบด้วยอาคารหลัก 4 หลัง คือ
1. อาคารอนุรักษ์ 1 เดิมใช้เป็นอาคารสถานีรถไฟธนบุรี ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยโถงต้อนรับ ห้องจำหน่ายตั๋ว และห้องจัดแสดงต่าง ๆ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 2 ชั้น ผังพื้นเป็นรูปตัวแอล (L) หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้อง รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น จุดเด่นอยู่หอนาฬิกาสูงด้านข้าง ผนังอาคารก่ออิฐเปิดผิวแสดงเนื้อวัสดุตัดกับโครงสร้างกรอบคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในอาคารตกแต่งด้วยซุ้มโค้ง พื้นชั้นล่างเป็นพื้นปูนขัดมันและพื้นปูนปูกระเบื้อง ส่วนพื้นชั้นบนเป็นไม้
2. อาคารอนุรักษ์ 2 เดิมใช้เป็นที่ทำการรับส่งสินค้า ปัจจุบันเป็นร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์ และพื้นที่จัดนิทรรศการชั่วคราวและกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 2 ชั้น ผังพื้นเป็นรูปตัวยู (U) หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้อง รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น เป็นอาคารเรียบเกลี้ยง การเจาะช่องประตูหน้าต่างเน้นประโยชน์ใช้สอยตามการใช้งานของแต่ละพื้นที่ภายในอาคาร พื้นชั้นล่างเป็นพื้นปูนปูกระเบื้อง ส่วนพื้นชั้นบนเป็นไม้ มีส่วนต่อเติมเป็นทางเดินโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเชื่อมจากชั้น 2 ไปยังอาคารอนุรักษ์ 1
3. อาคารอนุรักษ์ 3 วางตัวยาวติดคลองบางกอกน้อย เดิมใช้เป็นโกดัง ปัจจุบันจัดเรื่องราวของชุมชนบางกอกน้อย มีจุดเด่นอยู่ที่เรือไม้โบราณขนาดใหญ่ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้อง ใต้หลังคาทรงจั่วมีหลังคาปีกนกและค้ำยันยาวตลอดแนวอาคารทั้ง 2 ด้าน รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเรียบง่าย ผนังอาคารแสดงโครงเคร่าไม้ที่รับฝาที่เรียงตัวตามแนวนอนและต่อกันแบบเข้าลิ้น พื้นเป็นพื้นปูนขัดมัน
4. อาคารอนุรักษ์ 4 วางตัวยาวต่อจากอาคารอนุรักษ์ 3 เดิมใช้เป็นโกดัง ปัจจุบันเป็นคลังจัดเก็บวัตถุทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และห้องทำงานต่าง ๆ รูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายกับอาคารอนุรักษ์ 3
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์ ด้วยวิธีการปรับปรุงฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนการใช้สอย (Adaptive Reuse) ตามหลักวิชาการ มีการสำรวจ บันทึก และประเมินคุณค่าของที่ตั้ง อาคารและสิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่โดยรอบอย่างละเอียด กิจกรรมและองค์ประกอบใหม่มีความสอดคล้องกับการรักษาคุณค่าและความแท้ดั้งเดิมของสถาปัตยกรรม


ชุดภาพ



ช่างภาพ
ชื่อ
เกตน์สิรี วงศ์วาร

ชื่อเล่น
โอ

ประวัติและผลงานโดยย่อ
หลังจากจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกตน์สิรี วงศ์วาร เริ่มต้นและยังคงเป็นช่างภาพให้กับนิตยสารออกแบบและสถาปัตยกรรมอย่าง art4d magazine เธอชอบดูงานสถาปัตย์ ชอบเดินทาง แล้วก็ชอบถ่ายรูป การถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมเลยทำให้เธอได้ทำในสิ่งที่ชอบ พอๆ กับการสรรหาของกินและเอฟของเล่น เกตน์สิรีเชื่อว่าภาพถ่ายไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนที่ถ่ายทอดความคิดและแรงบันดาลใจของผู้สร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะและคุณค่าของตัวงาน รวมไปถึงบริบทที่แวดล้อมมันอยู่ด้วยเช่นกัน