บ้านหลวงสาทรราชายุกต์ กรุงเทพมหานคร




การอนุรักษ์อาคารมีกระบวนการศึกษาข้อมูล การดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง การอนุรักษ์องค์ประกอบอาคารภายนอกทำได้อย่างสมบูรณ์ มีความพยายามในการปรับการใช้สอยอาคารเป็นโรงแรม ซึ่งยังคงรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของอาคารไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในให้สอดคล้องกับลักษณะของอาคาร รวมทั้งการเว้นระยะห่างของอาคารใหม่และสภาพแวดล้อม




ที่ตั้ง
เลขที่ 108 ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ
ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ

ผู้ออกแบบอนุรักษ์ / ปรับปรุง
สถาปนิกผู้บูรณะ บริษัท กุฎาคาร จำกัด

ผู้ครอบครอง
บริษัท นอร์ท สาธร เรียลตี้ จำกัด

ปีที่สร้าง
พุทธศักราช 2433


บ้านหลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) ตั้งอยู่บนถนนสาทรเหนือ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยหลวงสาทรราชายุกต์ หรือเจ้าสัวยม คหบดีที่ทำธุรกิจค้าขายและเป็นผู้ขุดคลองสาทรเพื่อพัฒนาที่ดิน และเป็นหุ้นส่วนบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ต่อมาบ้านหลังนี้ได้ตกเป็นของคุณแช่ม ธิดาของหลวงสาทรราชายุกต์ และหลวงจิตรจำนงค์วานิช บุตรเขย ในพุทธศักราช 2453 กิจการโรงสีของหลวงจิตรจำนงค์วานิชต้องถึงแก่การล้มละลาย ท่านจึงได้นำบ้านมาจำนองกับพระคลังข้างที่ (ชื่อเดิมของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) และตกเป็นของกรมพระคลังข้างที่ในพุทธศักราช 2459 หลังจากนั้น ในพุทธศักราช 2467 ตัวอาคารได้แปลงสภาพเป็นโรงแรม "โฮเต็ล รอแยล" เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติร่วมสมัยกับโรงแรม Oriental และ Trocadero ต่อมาอาคารได้ตกเป็นของรัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงแรมไทยแลนด์" หลังจากนั้นสถานเอกอัครราชทูตสหภาพแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (ปัจจุบันใช้ชื่อว่าสถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย) ได้เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโรงแรมไทยแลนด์จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อใช้เป็นสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทยระหว่างพุทธศักราช 2491 – 2542 ต่อมาในพุทธศักราช 2543 กรมศิลปากรได้เข้าทำการสำรวจอาคารและขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ปัจจุบัน บ้านหลวงสาทรราชายุกต์ ได้กลับมาใช้งานเป็นโรงแรมอีกครั้งโดย บริษัท นอร์ท สาธร เรียลตี้ จำกัด เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และได้ปรับปรุงฟื้นฟูอาคารเป็นส่วนร้านอาหารและจัดเลี้ยงชื่อ "เดอะ เฮ้าส์ ออน สาทร" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมดับเบิลยู กรุงเทพ

บ้านหลวงสาทรราชายุกต์ ประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง สร้างล้อมลานตรงกลาง อาคารด้านหน้าเป็นบ้านสองชั้นเมื่อแรกสร้าง รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก (Neo-Classic) หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว อาคารปีกสองข้างสูงสามชั้นสร้างในสมัยหลวงจิตร์จำนงวานิช ส่วนอาคารด้านหลังเดิมเป็นเรือนบริการชั้นเดียว ปัจจุบันปรับปรุงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น จุดเด่นของบ้านหลวงสาทรราชายุกต์อยู่ที่อาคารด้านหน้า มีมุขกลางยื่นตรงหน้าบ้านเป็นบันไดทางเข้าและสำหรับเทียบรถยนต์ ตรงมุมบันไดหลักทำเป็นหอสูงสามชั้นตามสมัยนิยม ชั้นสามสันนิษฐานว่าเป็นห้องพระในสมัยแรกสร้าง เสา ราวลูกกรง ผนังด้านข้างและท้องบันไดเป็นไม้สักจำหลักและฉลุลาย ประตูหน้าต่างและกรอบซุ้มทั้งหมดทำด้วยไม้สักจำหลักลาย กระจกช่องแสงเป็นกระจกพิมพ์ลาย ฝ้าเพดานชั้นล่างของอาคารทำด้วยแผ่นเหล็กปั๊มลายนูน ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศที่เรียกว่า Tin Ceiling ส่วนฝ้าชั้นบนเป็นไม้สักฉลุและจำหลักลายที่งดงามและไม่ซ้ำกันทุกห้อง เสาในห้องชั้นล่างเป็นปูนปั้นถอดพิมพ์ลวดลายศิลปะตะวันตก

บ้านหลวงสาทรราชายุกต์ เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์อาคารเก่าควบคู่กับพัฒนาที่ดินในเชิงธุรกิจ โดยการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารโบราณสถานตามหลักวิชาการ ทำให้สามารถรักษาประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมบ้านพักอาศัยที่หรูหรางดงามของผู้ขุดคลองและสร้างถนนสาทรเอาไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็ยินยอมให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นอาคารสูงในพื้นที่โดยรอบบ้าน


ชุดภาพ



ช่างภาพ
ชื่อ
ศรีรัฏฐ์ สมสวัสดิ์

ชื่อเล่น
เอ้

ประวัติและผลงานโดยย่อ
ช่างภาพสถาปัตยกรรม สนใจงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย อาคารอนุรักษ์ และงานศิลปวัฒนธรรมเริ่มถ่ายภาพเป็นอาชีพตั้งแต่ พ.ศ. 2554