โรงแรมไมอามี่ กรุงเทพมหานคร




อาคารนี้ได้รักษาความแท้ในเรื่องของรูปทรงภายนอก องค์ประกอบอาคาร และการใช้สอย นับตั้งแต่เมื่อเริ่มเปิดดำเนินกิจการไว้ได้ค่อนข้างครบถ้วน ผู้ครอบครองดูแลรักษาอาคารเป็นอย่างดี โดยมีการซ่อมแซมโครงสร้างและองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง มีบางส่วนของการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอย การตกแต่ง และเพิ่มอุปกรณ์อาคารเพื่อความสะดวกสบายตามการใช้สอยที่เปลี่ยนไปได้ดี




ที่ตั้ง
เลขที่ 2 ถนนสุขุมวิท 13 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ
ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ

ผู้ออกแบบอนุรักษ์ / ปรับปรุง
คุณสุพล ตัณศิริชัยยา

ผู้ครอบครอง
คุณสุพล ตัณศิริชัยยา

ปีที่สร้าง
พุทธศักราช 2508


โรงแรมไมอามี่ เกิดจากคุณบัญชา และคุณมาลี แซ่ตั้ง (ตัณศิริชัยยา) สองสามีภรรยาชาวจีนจากเมืองซัวเถา เดินทางแสวงโชคจากแผ่นดินใหญ่มาอาศัยพึ่งใต้ร่มพระบารมีแผ่นดินสยาม ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เก็บเล็กผสมน้อยจนมีทุนก้อนแรกกับธุรกิจสามล้อถีบให้เช่า วันเวลาผ่านไปจากรถเช่าเพียงไม่กี่คันก็ขยายไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพุทธศักราช 2503 รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศยกเลิกสามล้อถีบในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อลดปัญหาจราจรและความเป็นระเบียบของบ้านเมือง ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวและลงทุนครั้งใหญ่โดยเปลี่ยนเป็นสามล้อเครื่องแทน ประกอบกับช่วงเวลานั้นชาวต่างชาติเริ่มเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งทหารอเมริกันที่เดินทางมาพักผ่อนที่ไทยก่อนจะไปปฏิบัติภารกิจในสงครามเวียดนาม ทั้งสองท่านเห็นถึงโอกาสธุรกิจด้านการบริการจึงตัดสินใจขายกิจการสามล้อเครื่องแล้วนำเงินไปสร้างโรงแรม เปิดดำเนินการในพุทธศักราช 2508 ในชื่อ โรงแรมไมอามี่ โดยใช้สัญลักษณ์ของโรงแรมเป็นรูปมงกุฎนางงามจักรวาล สำหรับที่มาของชื่อและสัญลักษณ์ของโรงแรมนั้น เนื่องจากโรงแรมไทยในสมัยนั้นจะนิยมตั้งเป็นชื่อเมืองต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อแสดงถึงการต้อนรับนักท่องเที่ยว และง่ายต่อการจดจำ ประกอบกับปีที่โรงแรมเปิดดำเนินการเป็นปีที่มีการจัดประกวดนางงามจักรวาลขึ้นที่หาดไมอามี่ รัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา และคุณอภัสรา หงสกุล เป็นตัวแทนจากประเทศไทยคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นนางงามจักรวาล
โรงแรมไมอามี่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นที่ประยุกต์ให้เข้ากับภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ผังพื้นอาคารเป็นรูปตัวยู (U) ล้อมรอบช่องเปิดโล่ง (Open Inner Court) และสระว่ายน้ำ พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างประกอบด้วยส่วนต้อนรับ ห้องพักจำนวน 10 ห้อง พื้นที่ใช้เช่า และอาคารห้องน้ำสระว่ายน้ำหลังคาเป็นดาดฟ้าคอนกรีตหลังคาแบนที่ใช้เป็นลานอเนกประสงค์ สวนหย่อม และลานอาบแดด พื้นที่ใช้สอยชั้น 2 – 3 เป็นห้องพักจำนวน 68 ห้อง ในส่วนของพื้นที่ใช้สอยชั้น 4 เป็นห้องพักจำนวน 16 ห้อง ห้องซักผ้า ลานซักผ้า และห้องพักพนักงาน หลังคาโรงแรมเป็นดาดฟ้าคอนกรีตหลังคาแบน สามารถขึ้นไปยืนชมวิวได้ ทางเดินภายในอาคารมีทั้งแบบทางเดินที่มีห้องอยู่ฝั่งเดียว (Single Corridor) และทางเดินที่มีห้องอยู่สองฝั่ง (Double Corridor) มีช่องลมและหน้าต่างช่วยในการระบายอากาศ รวมทั้งแผงกันแดดภายในและภายนอกอาคารที่ช่วยบังแดด ในขณะเดียวกันแสงธรรมชาติก็สามารถเข้ามาในอาคารได้  
โรงแรมไมอามี่ เป็นตัวอย่างของโรงแรมในยุคที่การท่องเที่ยวเริ่มเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงแรมหลายแห่งที่สร้างขึ้นในยุคเดียวกันนั้นได้ปิดตัวลง หรือถูกรื้อถอนแล้วแทนที่ด้วยอาคารสูง แต่ด้วยความมุ่งมั่นใจตั้งของทายาทตระกูลตัณศิริชัยยา ทำให้โรงแรมไมอามี่ได้รับดูแลรักษาเป็นอย่างดี สามารถรักษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้ได้ การตกแต่งภายในด้วยวัสดุ สี และบรรยากาศใกล้เคียงกับโรงแรมเมื่อแรกสร้าง ส่วนการเพิ่มเติมระบบต่าง ๆ ของอาคารเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดความปลอดภัยของอาคารสาธารณะก็ไม่ได้ไปลดทอนคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของอาคารแต่อย่างใด


ชุดภาพ



ช่างภาพ
ชื่อ
อภินัยน์ ทรรศโนภาส

ชื่อเล่น
น้องฟาง

ประวัติและผลงานโดยย่อ
        เกิดเป็นคนใต้ปลายด้ามขวาน มัธยมปลายจบการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ระดับปริญญาตรีจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
        ด้วยความสนใจศาสตร์ด้านการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ภาพถ่ายเชิงสารคดี และภาพถ่ายท่องเที่ยว สั่งสมประสบการณ์การถ่ายภาพเรื่อยมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา มีโอกาสเข้าร่วมงานประกวดภาพถ่าย ได้รับรางวัลชนะเลิศ งานประกวดสื่อสามมิติจากงานสถาปนิก 57 ในหัวข้อชีวิตสถาปนิก เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย โครงการประกวดภาพถ่ายสารคดีประจำปี 2017 “10ภาพเล่าเรื่อง ครั้งที่ 4” National Geographic ฉบับภาษาไทย
        ปัจจุบันเป็นช่างภาพ ถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ใช้ชื่อว่า ‘FANGBakii’ ถ่ายภาพสารคดีท่องเที่ยว ใช้ชื่อว่า ‘แค่อยากออกไป’ และยังคงสั่งสมประสบการณ์การถ่ายภาพเรื่อยไป