ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)




ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยทางศูนย์ได้หมดสัญญากับพื้นที่เช่าเดิมซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์การค้า และมีความต้องการที่จะหาพื้นที่ทำการใหม่ที่นักออกแบบ ผู้ประกอบการ และประชาชนที่สนใจสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น




ที่ตั้ง
อาคารไปรษณีย์กลาง เลขที่ 1160 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ
พระสาโรชรัตนนิมมานก์ และนายหมิว อภัยวงศ์

ผู้ออกแบบอนุรักษ์ / ปรับปรุง
บริษัท ดีพาร์ทเม้นท์ ออฟ อาร์คิเทคเจอร์ จำกัด

ผู้ครอบครอง
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

ปีที่สร้าง
สร้างเมื่อพุทธศักราช 2483 เริ่มดำเนินการปรับปรุง พุทธศักราช 2558 ดำเนินการแล้วเสร็จ พุทธศักราช 2560


  ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยทางศูนย์ได้หมดสัญญากับพื้นที่เช่าเดิมซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์การค้า และมีความต้องการที่จะหาพื้นที่ทำการใหม่ที่นักออกแบบ ผู้ประกอบการ และประชาชนที่สนใจสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยศูนย์มีความสนใจอาคารไปรษณีย์กลางซึ่งในเวลานั้นไม่ได้ถูกใช้งานมากนัก อาคารหลังนี้เป็นอาคารเก่าอายุ 75 ปี มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม รวมทั้งความสัมพันธ์ในด้านสังคมกับชุมชนโดยรอบ ผังของอาคารเป็นรูปตัวที (T) ความสูง 4 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน 1 ชั้น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก รูปทรงอาคารเป็นลักษณะของงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ช่วงต้น (Early Modern) มีจุดเด่นอยู่ที่ปลายยอดอาคารด้านหน้าตรงส่วนกลาง มีประติมากรรมรูปครุฑขนาดใหญ่ ขนาด 2 เท่าตัวคน ประดับตกแต่งอยู่ 2 ข้าง ออกแบบโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบตัดสินใจเช่าพื้นที่บางส่วนของอาคารบริเวณพื้นที่ปีกฝั่งซ้ายและด้านหลังของอาคาร เพื่อเปลี่ยนให้เป็นแหล่งความรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบ รวมพื้นที่ทั้งหมด 9,820 ตารางเมตร เริ่มดำเนินการปรับปรุงในพุทธศักราช 2558 และดำเนินการแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2560
  ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้รับการออกแบบร่วมสมัยให้สอดคล้องกับอาคารเดิม โดยการรักษาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมสำคัญ เช่น อาคารด้านหน้า และประติมากรรมรูปครุฑ โครงสร้างของส่วนต่อเติมใช้โครงสร้างเหล็กและผนังเบาเป็นหลัก ใช้วัสดุร่วมสมัย เช่น เหล็ก กระจก และแผ่นอะคริลิค เพื่อทำให้เห็นความแตกต่างกับวัสดุอาคารเดิมที่ใช้คอนกรีตและอิฐ การปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ คำนึงถึงการใช้งาน โดยอาคารด้านหน้าบริเวณพื้นที่ปีกฝั่งซ้ายใช้เป็นโถงทางเข้า ร้านขายของ สำนักงาน และห้องประชุม ส่วนอาคารด้านหลังใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ห้องสมุดวัสดุ พื้นที่สร้างสรรค์ผลงาน และห้องสมุด โดยมีการเจาะพื้นอาคารตัดผ่านพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ ตลอดทั้งอาคารตั้งแต่ชั้นบนสู่ชั้นล่าง และติดตั้งบันไดเลื่อน ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมให้ผู้คนสามารถมองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ในแต่ละชั้น ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานเกิดแรงบันดาลใจตามแนวคิดและวัตถุประสงค์หลักของโครงการ สำหรับชั้นบนสุดเป็นพื้นที่ทำงาน (Co-Working Space) และร้านขายอาคารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมอาคารด้านหน้าและด้านหลังเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนดาดฟ้าของอาคารด้านหน้าจัดเป็นสวนหย่อมสำหรับพักผ่อน นอกจากนี้ยังมีส่วนบริการเสริมต่าง ๆ ครบครัน เช่น ห้องน้ำ ห้องพยาบาล ห้องเก็บสัมภาระ และห้องควบคุมงานระบบอาคาร
  ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นตัวอย่างของการออกแบบร่วมสมัยให้เข้ากับอาคารที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ด้วยวิธีการปรับปรุงฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนการใช้สอย (Adaptive Reuse) สอดคล้องกับการใช้งานและเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถเป็นตัวอย่างของแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาอาคารเก่าให้กับโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันได้


ชุดภาพ



ช่างภาพ
ชื่อ
วีระพล สิงห์น้อย

ชื่อเล่น
เบียร์

ประวัติและผลงานโดยย่อ
วีระพล สิงห์น้อย เป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมมืออาชีพที่หลงใหลในสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น และรวบรวมบันทึกภาพถ่ายสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจเอาไว้ในชื่อ foto_momo หรือ fotograph of the modern movement ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก สร้างปรากฏการณ์ให้อาคารยุคโมเดิร์นของเมืองไทย