บ้านขุนพิทักษ์รายา จังหวัดปัตตานี




กระบวนการอนุรักษ์มีความครบถ้วน โดยมีการศึกษาประวัติความเป็นมา องค์ประกอบอาคารในช่วงเวลาต่าง ๆ และประเมินสภาพอาคาร จนสามารถเลือกอนุรักษ์องค์ประกอบสำคัญ เหมือนเมื่อครั้งที่อาคารมีความสมบูรณ์ การเลือกเทคนิควิธีการอนุรักษ์และวัสดุทดแทนเพื่อซ่อมแซมองค์ประกอบที่ชำรุดและเสื่อมสภาพทำได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล การอนุรักษ์อาคารหลังนี้




ที่ตั้ง
เลขที่ 251 ถนนปัตตานีภิรมย์ ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ
ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ

ผู้ออกแบบอนุรักษ์ / ปรับปรุง
คุณอดิศักดิ์ วัฒนะตันทะ และคุณตวิษา วัฒนเจริญพงศ์ / คุณอนุพาสน์ สุวรรณมงคล

ผู้ครอบครอง
คุณอนุศาสน์ สุวรรณมงคล

ปีที่สร้าง
ก่อนพุทธศักราช 2460


        บ้านขุนพิทักษ์รายา ตั้งอยู่ในชุมชนหัวตลาด หรือในภาษามลายู เรียกว่า กือดาจีนอ (กือดา แปลว่า ตลาด และ จีนอ แปลว่า จีน) เป็นชุมชนที่มีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้บุกเบิกย่านนี้ คือ นายปุ่ย แซ่ตัน หรือหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ต่อมาทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวางได้เข้ามามีบทบาทในการทำกิจการจัดเก็บภาษี การทำเหมืองแร่ และการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งขุนพิทักษ์รายา ท่านคือ ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล โดยที่ดินบริเวณบ้านขุนพิทักษ์รายาเป็นที่ตั้งของบ้านนางวไล วัฒนายากร ธิดาของขุนพิทักษ์รายากับนางเซ่งขิ้ม และเป็นมารดาของคุณศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล ซึ่งต่อมา บุตรชายคนที่ 4 ของคุณศรีสุมาลย์ คือ คุณอนุพาสน์ สุวรรณมงคล ผู้คิดริเริ่มการฟื้นฟูอนุรักษ์บ้านขุนพิทักษ์รายาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษ และทดแทนพระคุณแม่ในโอกาสอายุมงคลครบ 7 รอบ 84 ปี และเพื่อให้ทายาทรุ่นต่อไปได้สืบทอดอาคารแห่งนี้ไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้ที่สนใจ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่จังหวัดปัตตานีแผ่นดินเกิดของคุณแม่
        บ้านขุนพิทักษ์รายา เป็นเรือนแถว 2 ชั้น 2 คูหา 2 ช่วงเสา พื้นที่ใช้สอยรวม 360 ตารางเมตร รูปแบบของสถาปัตยกรรมมีส่วนผสมของสถาปัตยกรรมจีน และยังแสดงออกถึงวิทยาการของงานช่างชาวจีนกับงานช่างพื้นถิ่น วัสดุที่ผลิตในชุมชนมุสลิม อีกทั้งยังแฝงด้วยคติความเชื่อแบบจีนของคนในอดีต ชั้นหนึ่งของอาคารมีโครงสร้างเป็นผนังรับน้ำหนักโดยใช้อิฐก่อ และฉาบด้วยปูน โดยผนังฝั่งที่ติดข้างบ้านเป็นการใช้ผนังร่วมกัน ซึ่งเป็นบ้านที่เป็นพี่น้องกัน โดยผนังฝั่งนี้ยังพบร่องรอยของระดับหลังคาเดิมของบ้านก่อนที่จะมีการปรับปรุงมาเป็นรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ชั้นสองของอาคารเป็นโครงสร้างเสาคาน เสาไม้เชื่อมต่อลงมาถึงชั้นหนึ่งของบ้าน หลังคาส่วนหน้าอาคารเป็นทรงจั่ว ส่วนหลังของอาคารเป็นทรงปั้นหยา มีพาไลหลังคาทั้งชั้นหนึ่งและชั้นสองของอาคาร โดยหลังคาทั้งหมดมุงด้วยกระเบื้องดินเผามุงหลังคาแบบปลายแหลม การวางผังของบ้านแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก โดยยังยึดถือคติความเชื่อในการวางผังในรูปแบบเดิม คือ ส่วนด้านหน้าเป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัว (Semi Private) ส่วนด้านหลังบ้านและชั้นสองใช้สำหรับพักผ่อน (Private) พื้นที่ทั้งสองถูกเชื่อมด้วยลานกลางหาว (Courtyard) เป็นที่ตั้งของบ่อน้ำ และยังมีประโยชน์ในการถ่ายเทอากาศจากภายนอกบ้านทำให้ภายในบ้านมีอากาศหมุนเวียนตลอด เพื่อช่วยปรับสมดุลอุณหภูมิภายในบ้านส่งผลให้ภายในบ้าน เย็นสบายเหมาะแก่การอยู่อาศัย โดยพื้นที่ชั้นหนึ่งของบ้านประกอบด้วย ห้องบรรพบุรุษเป็นตั้งของรูปเคารพบรรพบุรุษ ห้องโถงต้อนรับ ลานกลางหาว ห้องครัว ห้องนิทรรศการจัดแสดงการอนุรักษ์บ้านขุนพิทักษ์รายาและวัสดุ และห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอยชั้นสองฝั่งด้านหน้าบ้านกั้นเป็นห้องนอนสำหรับเจ้าของบ้านเชื่อมด้วยโถงบันไดไปยังห้องอเนกประสงค์ในส่วนกลางบ้าน และห้องโถงบันไดหลังบ้าน ในส่วนของห้องน้ำและห้องอเนกประสงค์เป็นพื้นที่ที่ออกแบบขึ้นใหม่เพื่อตอบรับการใช้งานในปัจจุบัน
        บ้านขุนพิทักษ์รายา เป็นตัวอย่างของการปรับปรุงฟื้นฟูอนุรักษ์อาคารแบบเต็มรูปแบบหลังแรกของปัตตานี ทั้งการเก็บข้อมูล การค้นคว้า วิธีการก่อสร้างและการหาวัสดุทั้งเก่าและวัสดุทดแทนของเดิม โดยตั้งใจให้เหมาะสมกับอาคารและบริบทภายในชุมชมมากที่สุด ตลอดจนขั้นตอนการก่อสร้างที่คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด เพื่อให้สามารถแสดงคุณค่าของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ได้และเหมาะสมต่อการใช้งานในปัจจุบัน ทำให้บ้านขุนพิทักษ์รายากลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วิธีการอนุรักษ์ ทั้งด้านการเลือกใช้วัสดุและวิธีการก่อสร้างให้แก่นักเรียน นักศึกษา คนในชุมชนและผู้ที่สนใจ รวมทั้งทำให้เจ้าของอาคารเก่าหลายหลังในพื้นที่เห็นถึงคุณค่าของการอนุรักษ์อาคารแทนการรื้อถอน ตลอดจนการทำให้เกิดการรู้รักษ์คุณค่าของชุมชนทำให้คุณค่านี้คงอยู่ตลอดไป


ชุดภาพ



ช่างภาพ
ชื่อ
อภินัยน์ ทรรศโนภาส

ชื่อเล่น
น้องฟาง

ประวัติและผลงานโดยย่อ
        เกิดเป็นคนใต้ปลายด้ามขวาน มัธยมปลายจบการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ระดับปริญญาตรีจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
        ด้วยความสนใจศาสตร์ด้านการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ภาพถ่ายเชิงสารคดี และภาพถ่ายท่องเที่ยว สั่งสมประสบการณ์การถ่ายภาพเรื่อยมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา มีโอกาสเข้าร่วมงานประกวดภาพถ่าย ได้รับรางวัลชนะเลิศ งานประกวดสื่อสามมิติจากงานสถาปนิก 57 ในหัวข้อชีวิตสถาปนิก เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย โครงการประกวดภาพถ่ายสารคดีประจำปี 2017 “10ภาพเล่าเรื่อง ครั้งที่ 4” National Geographic ฉบับภาษาไทย
        ปัจจุบันเป็นช่างภาพ ถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ใช้ชื่อว่า ‘FANGBakii’ ถ่ายภาพสารคดีท่องเที่ยว ใช้ชื่อว่า ‘แค่อยากออกไป’ และยังคงสั่งสมประสบการณ์การถ่ายภาพเรื่อยไป