1905 เฮอริเทจ คอร์เนอร์ (1905 HERITAGE CORNER)




การอนุรักษ์อาคารนี้แสดงให้เห็นเทคนิควิธีและกระบวนการอนุรักษ์ ที่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณของอาคารได้เป็นอย่างดี มีการเพิ่มเติมองค์ประกอบ ตลอดจนแก้ปัญหาความเสื่อมสภาพอาคารและข้อจำกัดต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นตัวอย่างการปรับประโยชน์ใช้สอยตึกแถวเก่าเพื่อการใช้งานใหม่ ที่มีผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน




ที่ตั้ง
เลขที่ 66 และ 68 ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขต พระนคร กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ
ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ

ผู้ออกแบบอนุรักษ์ / ปรับปรุง
คุณพงศกร กิจขจรพงษ์

ผู้ครอบครอง
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เช่าโดย คุณณัฐกฤตา พงษ์ธนานิกร และคุณมาร์ค แซล์มอน

ปีที่สร้าง
ประมาณพุทธศักราช 2447 – 2449


ตึกแถวถนนแพร่งภูธร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่แพร่งภูธรจรดถนน 3 ด้าน ได้แก่ ถนนอัษฎางค์ ถนนบำรุงเมือง และถนนตะนาว เดิมเป็นที่ตั้งของวังสะพานข้างโรงสี เรียกกันว่า “วังเหนือ” เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาตลับ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ สิ้นพระชนม์ในพุทธศักราช 2440 หม่อมเจ้าในกรมได้ถวายขายที่วังและสิ่งปลูกสร้างแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระองค์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมพระคลังข้างที่รับซื้อไว้ จากนั้นได้รื้อถอนอาคารต่าง ๆ ในวังลงจนหมด จัดซื้อที่ดินเพิ่มด้านถนนอัษฎางค์และด้านถนนตะนาว แล้วตัดถนนให้มีทางเข้าออกสามด้าน ตรงกลางเว้นเป็นที่ว่าง ส่วนที่เหลือสร้างเป็นตึกแถวเพื่อการพาณิชยกรรม พระราชทานชื่อว่า “ตำบลแพร่งภูธร” เป็นย่านการค้าที่คึกคักมากในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 โดยบ้านเลขที่ 66 และ 68 เป็นตึกแถวที่อยู่แปลงหัวมุมถนนซึ่งถูกใช้งานเพื่อการพาณิชยกรรมมาอย่างต่อเนื่อง และต่อมาได้ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ก่อนจะได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูเป็นที่พักโรงแรมขนาดเล็กในชื่อว่า 1905 เฮอร์ริเทจ คอร์เนอร์ (1905 HERITAGE CORNER)

1905 เฮอร์ริเทจ คอร์เนอร์ (1905 HERITAGE CORNER) เป็นตึกแถวสูง 2 ชั้น โครงสร้างแบบผนังรับน้ำหนัก ก่ออิฐถือปูน ฉาบปูนทั้งผนังด้านในและด้านนอก ทำหน้าที่เป็นผนังกันไฟในตัว โครงสร้างพื้นและหลังคาเป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว โดยระหว่างห้องแถวแต่ละห้องจะเน้นขอบเขตด้วยระนาบผนังที่หนาพร้อมลายเซาะร่องตามแนวนอน ชั้นล่างเป็นประตูบานเฟี้ยมไม้แบบลูกฟักกระดานดุน เหนือประตูเป็นช่องลมระบายอากาศ ผนังเหนือช่องลมประดับปูนปั้นเป็นเส้นโค้ง มีแนวกันสาดคลุมทางเท้ายาวตลอดแนวอาคาร ชั้นบนเป็นหน้าต่างบานเปิดไม้แบบลูกฟักกระดานดุน ด้านบนเป็นช่องแสง คลุมด้วยกันสาดประดับลายฉลุไม้ ผนังเหนือกันสาดมีช่องระบายอากาศรูปวงกลมเป็นระยะ ด้วยความที่เป็นอาคารแปลงหัวมุม ผังพื้นของอาคารจึงแตกต่างจากตึกแถวทั่วไป อาคารมีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 130 ตารางเมตร ชั้นล่างประกอบด้วยส่วนต้อนรับ ห้องครัว ห้องน้ำ ช่องเปิดโล่ง (Open Inner Court) และห้องพักพร้อมห้องน้ำส่วนตัว 1 ห้อง และชั้นบนประกอบด้วยห้องพักพร้อมห้องน้ำส่วนตัว 2 ห้อง

1905 เฮอร์ริเทจ คอร์เนอร์ (1905 HERITAGE CORNER) ได้รับการการบูรณะฟื้นฟูโดยใช้ระยะเวลาออกแบบและดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงเป็นเวลา 5 ปี ในการดำเนินการดังกล่าวได้พยายามรักษารูปแบบดั้งเดิมของอาคารไว้ให้มากที่สุด ทั้งโครงสร้างและวัสดุที่นำมาซ่อมแซม ชิ้นส่วนของอาคารเดิมได้นำกลับมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ได้ทำการรื้อถอดส่วนที่ได้ถูกปรับปรุงต่อเติมออก แล้วจัดสรรพื้นที่ใช้สอยภายในใหม่ ให้มีความสะดวกสบายในการใช้งานให้สอดคล้องกับชีวิตในปัจจุบัน เช่น ปรับเปลี่ยนบันได และเพิ่มเติมห้องน้ำให้สามารถใช้งานได้สะดวก เพิ่มเติมงานระบบต่าง ๆ ที่มีได้มาตรฐาน ส่วนงานตกแต่งภายในมีความใจในทุก ๆ รายละเอียด เน้นความประณีตของช่างฝีมือ ผสมผสานความเก่าและใหม่ให้มีความละเมียดละไม เพื่อให้ใกล้เคียงบรรยากาศและความรู้สึกของอดีตอีกครั้ง


ชุดภาพ



ช่างภาพ
ชื่อ
ศรีรัฏฐ์ สมสวัสดิ์

ชื่อเล่น
เอ้

ประวัติและผลงานโดยย่อ
ช่างภาพสถาปัตยกรรม สนใจงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย อาคารอนุรักษ์ และงานศิลปวัฒนธรรมเริ่มถ่ายภาพเป็นอาชีพตั้งแต่ พ.ศ. 2554