๒๕๕๙

การจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
และงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ

  ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ คณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) นำความกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นที่ปรึกษา ด้วยได้ทรงรับภาระปฏิบัติพระราชกิจเกี่ยวกับงานพระบรมศพต่างพระเนตรพระกรรณตั้งแต่เริ่มแรก หลังจากนั้นเป็นต้นมาพระองค์ได้ดำรงเป็นที่ปรึกษาในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพตลอดมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงสนพระราชหฤทัยศึกษางานด้านการปลูกสร้างพระเมรุมาศ การซ่อมราชรถ และพระยานมาศ ทรงร่วมประชุมวางแผนการก่อสร้างและดำเนินการการจัดหาวัสดุทดแทน มีพระบรมราชวินิจฉัยในการจัดงานพระราชพิธีฯ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปติดตามความคืบหน้าในการก่อสร้างพระเมรุมาศและงานศิลปกรรมด้วยพระองค์เอง

  พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์งานช่างไทยโบราณ ทรงห่วงใยในการดำรงอาชีพของช่างฝีมือ เมื่อจบงานพระราชพิธีจึงเห็นควรว่าจะได้รับการช่วยเหลือให้มีงานทำต่อ และทรงย้ำเตือนถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้งานช่างให้กันคนรุ่นใหม่เพื่อรักษาการดำรงอยู่ของงานช่างฝีมือไทยโบราณ เช่น การเก็บพระโกศจันทน์ไว้ โดยมีพระราชดำริว่าควรเก็บไว้เป็นตัวอย่าง เพราะตัวอย่างการสร้างนั้นไม่มีแล้ว ช่างที่ชำนาญก็ค่อยๆล้มหายตายจากไป ทำให้เกิดการเปลี่ยงแปลงราชประเพณีโดยจะไม่มีการเผาพระโกศจันทน์ แต่จะนำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นต้น นอกจากนี้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชกระแสริเริ่มให้นักจดหมายเหตุบันทึกรายละเอียดการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้างทุกชนิด ทุกประเภท เครื่องหมายการค้า ราคา สถานที่จำหน่าย พร้อมตัวอย่างวัสดุหรือป้ายกำกับสินค้าเท่าที่จะรวบรวมไว้ได้ โดยเก็บเป็นเอกสารหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ของการซ่อมสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

  ในการก่อสร้างพระเมรุมาศและพระเมรุนั้น ทรงให้ความสำคัญในการต่อยอดแถวความคิดจากพระเมรุในอดีต เพื่อยังคงสืบสานรูปแบบสถาปัตยกรรมเมรุดั้งเดิม แต่ยังคงพัฒนาไปตามยุคสมัย รวมถึงทรงพระราชทานแนวคิดในการก่อสร้างว่า พระเมรุเป็นอาคารชั่วคราว ควรหาวัสดุอื่นทดแทนการใช้ไม้ เนื่องจากปัจจุบันได้หายาก และควรเป็นวัสดุสมัยใหม่ที่มีความรวดเร็วในการก่อสร้าง รวมทั้งให้พิจารณาถึงประโยชน์ใช้สอยที่จะสามารถรื้อและนำวัสดุก่อสร้างไปใช้ภายหลังได้ด้วย จึงส่งผลให้สถาปนิกออกแบบโดยใช้แนวความคิดลดการใช้ไม้ให้มากที่สุด สร้างพระเมรุมาศและพระเมรุ เปลี่ยนวัสดุการก่อสร้างไปตามยุคสมัย จากโครงสร้างของพระเมรุจากเป็นไม้ค่อยๆลดการใช้ไม้เปลี่ยนมาใช้เป็นโครงสร้างทั้งหมดเป็นเหล็กที่ปิดหุ้มด้วยไม้อัดแทน องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ใช้เป็นการซ้อนไม้ทดแทนการแกะสลักไม้จริง และพัฒนาลดการใช้ไม้ลงด้วยการซ้อนไม้เฉพาะชิ้นต้นแบบ แล้วหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส พัฒนามาเป็นการใช้ไฟเบอร์กลาสซ้อนชั้นกันแทนการหล่อทั้งชิ้น งานศิลปกรรม เคยใช้เป็นการหล่อปูนพลาสเตอร์ก็ถูกเปลี่ยนมาใช้ไฟเบอร์กลาสเช่นเดียวกัน

  ทั้งนี้พระองค์ยังทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับงานพระราชพิธี จึงส่งผลให้เกิดการจัดนิทรรศการ โดยนิทรรศการนั้นจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติ พระราชกรณียกิจ การเตรียมงานพระราชพิธีฯ การสร้างพระเมรุมาศ การซ่อมและสร้างเครื่องใช้ในงานพระราชพิธีของงานช่างสิบหมู่ และรูปถ่ายในงานพระราชพิธี เพื่อให้ประชาชนได้ชมทั้งนิทรรศการและอาคารในพระราชพิธีด้วย จึงส่งผลให้ มีการจัดนิทรรศการในอาคารพระราชพิธีจนถึงปัจจุบัน