จัดทำโดย
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ
ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทนิทรรศการ
พินัย สิริเกียรติกุล
พีระพัฒน์ สำราญ
บุณยกร วชิระเธียรชัย
ภาพ Isometric
พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน
จาริต เดชะคุปต์
ถ่ายภาพ
สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท: ความเป็นลูกผสมที่มากกว่ารูปแบบ

น้อยคนนักที่จะทราบว่าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่เห็นในปัจจุบัน แท้จริงแล้วได้รับการซ่อมสร้างครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 7 หาใช่รูปแบบดั้งเดิมที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ นิทรรศการออนไลน์ในหัวข้อ “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท: ความเป็นลูกผสมที่มากกว่ารูปแบบ” จะพาทุกท่านไปพบกับประวัติศาสตร์การบูรณปฏิสังขรณ์ที่เปลี่ยนพระที่นั่งจักรีฯ จนเกิดความเป็นลูกผสมที่มากกว่าแค่ในเชิงรูปแบบ เพราะมันได้สร้างนวัตกรรม ทั้งในทางโครงสร้าง การประดับตกแต่ง และเทคนิคการก่อสร้างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย

พระที่นั่งใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท อาคารลูกผสมระหว่างศิลปสถาปัตยกรรมแบบไทยและตะวันตก ก่อสร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 2419-2425 แรกเริ่มพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างอาคารพระที่นั่งใหม่หลังนี้เป็นแบบตะวันตก ตามแบบของ จอห์น คลูนิช อย่างไรก็ตามขณะที่การก่อสร้างดำเนินไปจนถึงผนังอาคารชั้นที่สาม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลเสนอแนะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเปลี่ยนรูปแบบหลังคาพระที่นั่งจากโดมแบบฝรั่งเป็นยอดปราสาทแบบไทย พระองค์จึงทรงมีรับสั่งให้พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ออกแบบหลังคาพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นยอดปราสาทแบบไทย 3 ยอด

พระบรมมหาราชวังราว พ.ศ. 2418-2420 ถ่ายโดยช่างภาพชาวอิตาเลียน Odoardo Beccari (1843-1920) สังเกตพระที่นั่งจักรีฯ กำลังก่อสร้างถึงผนังชั้นสามเพื่อมุงหลังคาโดม อย่างไรก็ตามต่อมาหลังคาได้ถูกเปลี่ยนเป็นยอดปราสาท 3 องค์ที่เชื่อมต่อกันด้วยหลังคามุขกระสันแทน ที่มา: thaimeme, Looking across to Tiap Taa Raat Royal Pier, accessed March 23, 2019, available from http://teakdoor.com/famous-threads/39970-siam-thailand-bangkok-old-photo-thread-225.html?fbclid=IwAR1PDh8eE28ze9U8VttVF9orObgdSjJpXD_U8VXkQ34xKVO9IAX_mLSTZxo
รูปแบบแตกต่างจากยอดเดิม

จากภาพถ่ายเก่าในสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบว่ารูปแบบยอดปราสาทพระที่นั่งจักรีฯ แต่เดิมนั้นแตกต่างจากที่ปรากฏในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับหลังคาที่มีบราลีประดับสันหลังคา ช่อฟ้ารูปเทวดาพนมมือ ทรวดทรงของหลังคาที่เป็นแบบเครื่องก่อ และที่สำคัญคือ โครงสร้างภายในที่รองรับหลังคายอดปราสาท ซึ่งแม้จะไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก แต่จากหลักฐานการบูรณะทำให้ทราบว่า ยอดปราสาทพระที่นั่งจักรีฯ ที่เห็นในทุกวันนี้ไม่ใช่ผลงานครั้งเมื่อแรกสร้าง หากแต่เป็นงานจากการซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน

ยอดพระที่นั่งจักรีฯ องค์กลางก่อนการซ่อมแปลง มีทรวดทรงแบบเครื่องก่อ “เอาอย่างทรงปราสาทหินมาทำปราสาทไม้” ตามพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
“ปราสาทเสาคอดยอดด้วน”: พระที่นั่งจักรีฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5

การซ่อมแซมยอดพระที่นั่งจักรีฯ ในสมัยรัชกาลที่ 7 นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แท้จริงแล้วเกิดความเสียหายจนต้องซ่อมแซมมาก่อนหน้าแล้วหลายครั้ง เช่น ใน พ.ศ. 2435 และอีก 6 ปีต่อมาใน พ.ศ. 2442 ที่ลมพายุพัดแรงจนยอดปราสาทพระที่นั่งจักรีฯ โยกคลอนเป็นที่น่าหวาดเสียวแก่บรรดาผู้พบเห็น เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีรับสั่งให้กระทรวงโยธาธิการดำเนินการซ่อมแซมครั้งใหญ่ “ให้ถอดยอดลงเสียก่อน อย่าให้ทันหักหลุดลงมา […] อยากจะขอให้แล้วโดยเร็วที่สุด เพราะจะต้องอยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วนเสียโฉมอยู่”
ความเสียหายระดับ “เสาคอดยอดด้วน” ในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากความอ่อนแอของแกนยอดพระที่นั่งจักรีฯ ที่เป็นแกนเหล็กต่ออยู่กับแกนไม้ ซึ่งนับเป็นจุดวิกฤตทางโครงสร้างที่ช่างไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 แก้ไม่ตก ต้องรอเวลาจนกระทั่งล่วงมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โครงสร้างยอดพระที่นั่งจักรีฯ จึงได้รับการแก้ไขอย่างถูกหลักวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก

การตั้งนั่งร้านเพื่อ “ลดยอดลงแก้ไข” ที่ยอดปราสาทองค์ตะวันตก ถ่ายราว พ.ศ. 2434-2436 ที่มา: Walter Christmas, Et aar i Siam (Kjøbenhavn: Gyldendal, 1894), 31
รูปตัดภายในยอดพระที่นั่งจักรีฯ พ.ศ. 2442 แสดง “แกนเหล็กต่ออยู่กับแกนไม้” ที่เป็นสาเหตุของความอ่อนแอทางโครงสร้าง
ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
การ “ซ่อมแปลง” พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในสมัยรัชกาลที่ 7

ภายหลังการขึ้นครองราชสมบัติในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อุปนายกแผนกศิลปากร ราชบัณฑิตยสภา ดำเนินการซ่อมแปลงพระที่นั่งจักรีฯ ให้ทันงานฉลองกรุงเทพมหานครครบ 150 ปี แต่การซ่อมแซมพระที่นั่งจักรีฯ ในครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งก่อน ๆ เพราะเป็นการแก้ไขปรับโฉมใหม่ทั้งในทางโครงสร้าง รูปแบบทรวดทรง ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งยอดปราสาท อันนำมาสู่การระดมบุคคลากรทางการช่างชั้นนำทั้งฝ่ายไทยและตะวันตกร่วมออกแบบแก้ปัญหาทั้งทางโครงสร้างและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมไปพร้อมกัน


สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อุปนายกแผนกศิลปากร ราชบัณฑิตยสภา
นายช่างคนสำคัญ ผู้ช่วยสมเด็จครูฯ

วิศวกรคนสำคัญในการซ่อมแปลงยอดปราสาทครั้งนี้คือ นาย เอม กัลเลตตี (M Galletti) ซึ่งปรากฏบทบาทสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบโครงสร้างจนไปถึงการควบคุมงานก่อสร้าง ส่วนนายช่างแบบไทยคนสำคัญที่รับผิดชอบ “ทำหลังคาเครื่องยอดพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” และรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ร่างต้นแบบให้ คือ หลวงสมิทธิเลขา ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระพรหมพิจิตร” คณบดีคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร นั่นเอง แบบก่อสร้างที่ผลิตขึ้นโดยศิลปากรสถาน ราชบัณฑิตยสภา เพื่อใช้ในการซ่อมแปลงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับยอดปราสาทพระที่นั่งจักรีฯ ทั้งในเชิงโครงสร้าง ทรวดทรง และเครื่องประดับยอด ได้เป็นอย่างดี


พระพรหมพิจิตร นายช่างไทยคนสำคัญ ผู้ช่วยสมเด็จกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทำหลังคาเครื่องยอดพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
โครงสร้างใหม่แบบ buttress รับยอดปราสาท

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ทีมวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ดำเนินการศึกษาการซ่อมแปลงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในสมัยรัชกาลที่ 7 จนทราบว่าการซ่อมแปลงยอดพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในครั้งนั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบโครงสร้างภายในยอดปราสาทที่รองรับน้ำหนักหลังคาเครื่องยอดพระที่นั่งจักรีฯ จากแบบเดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 มาสู่โครงสร้างระบบใหม่แบบค้ำยัน (buttress) ในสมัยรัชกาลที่ 7 จนเกิด “ความเป็นลูกผสม” ทางโครงสร้างและสถาปัตยกรรมภายนอก ที่บูรณาการกันระหว่างเทคนิควิทยาการตะวันตกและองค์ความรู้เชิงช่างแบบไทยอย่างลงตัว

การขึ้นรูปโครงสร้างเครื่องยอดของไทยแต่เดิมใช้ระบบ “เสาตะม่อ-แปตาราง” คือการตั้งเสาบนรอด หรือแป ซ้อนตั้งขึ้นเป็นชั้น ๆ จากฐานขนาดใหญ่ด้านล่างแล้วค่อยๆ เพรียวขึ้นในชั้นบนตามการลดหลั่นของหลังคาเครื่องยอด แต่สำหรับโครงสร้างรูปแบบใหม่ของยอดพระที่นั่งจักรีฯ กลับเป็นระบบที่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการถ่ายน้ำหนักแบบเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกโครงสร้าง “เสาตะม่อ-แปตาราง” ของเดิมลง และตั้งชุด “โครงสร้างเสาและไม้กันเซชุดแกนกลาง” เพื่อรับน้ำหนัก “โครงสร้างเหล็ก” ของยอดพระที่นั่งแทน นอกจากนี้ยังพบการใช้ระบบโครงสร้าง “คานยื่นปะกับและค้ำยัน” เพื่อรับน้ำหนักแปตารางในแต่ละชั้น โดยทำเป็นคานยื่นจาก “โครงสร้างชุดแกนกลาง” ปะกับกับไม้กันเซ แล้วเสริมความแข็งแรงในการรับชั้นหลังคาแต่ละชั้นด้วยค้ำยันที่ตั้งขึ้นจากโครงไม้กันเซไปรับชุดแปตารางแต่ละชั้น

การทำงานร่วมกันระหว่าง “โครงสร้างเสาและไม้กันเซชุดแกนกลาง” และ “คานยื่นปะกับ-ค้ำยัน” ก่อให้เกิดระบบการสร้างสมดุลทางโครงสร้างในลักษณะที่ไม่ต่างไปจากระบบ buttress ของสถาปัตยกรรมตะวันตกยุคกลาง อันเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการต้านทานแรงกระทำทางด้านข้าง (lateral force) ได้ดีกว่าระบบ “เสาตะม่อ-แปตาราง” ของไทย การเปลี่ยนระบบโครงสร้างในครั้งนี้จึงเป็นการแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างที่มิเพียงทำให้โครงสร้างโดยรวมเบาขึ้น หากยังมีประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักได้ดี จนเกิดเป็นนวัตกรรม“ข้ามวัฒนธรรม” ระหว่างโครงสร้างเครื่องยอดแบบค้ำยันตะวันตก ที่สอดรับกับลักษณะชั้นหลังคายอดปราสาทแบบไทยอย่างลงตัว


แบบโครงสร้างยอดพระที่นั่งจักรีฯ องค์ตะวันออก มาตราส่วน 1:20 (คัดลอกใหม่จากแบบเดิม) แสดงให้เห็นโครงสร้างภายในตั้งแต่ระดับคานรัดเกล้าขึ้นไป โดยในส่วนหลังคาจัตุรมุขปรับปรุง โดยใช้โครงเดิม แต่โครงสร้างตั้งแต่หลังคาชั้นเชิงกลอนชั้นที่ 1 เป็นต้นไป ได้รับการออกแบบ ขึ้นใหม่ทั้งระบบ
ที่มา: สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร

แบบโครงสร้างยอดพระที่นั่งจักรีฯ องค์ตะวันออก มาตราส่วน 1:10 แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ระดับองค์ระฆังเป็นต้นไปทำเป็นโครงเหล็กถักขึ้น ไปรับแกนเหล็กกลวงด้านบน
ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.


โครงสร้างค้ำยันแบบ buttress ภายในยอดพระที่นั่งจักรีฯ ประกอบขึ้นจากเสา และไม้กันเซชุดแกนกลาง” และ คานยื่นปะกับกับค้ำยัน ที่ลดหลั่นตามลักษณะ การซ้อนชั้นหลังคาเครื่องยอดแบบไทย
ที่มา: สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หุ่นจำลองยอดพระที่นั่งจักรีฯ องค์ตะวันออก ที่สร้างขึ้นตามแบบของศิลปากรสถาน แสดงโครงสร้างหลังคาจัตุรมุขและยอดปราสาท ที่เป็นระบบการถ่ายน้ำหนักแบบ ค้ำยันไม่ต่างไปจากค้ำยันในงานสถาปัตยกรรมตะวันตกสมัยกลาง
ที่มา: สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร


isometric-section แสดงโครงสร้างยอดพระที่นั่งจักรีฯ องค์ตะวันออก
ที่มา: สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เครื่องประดับยอดก็ปรับปรุงใหม่ นาคปักและบันแถลง

ภาพถ่ายเก่าแสดงให้เห็นชิ้นส่วนนาคปักและบันแถลงกะไหล่ทองที่ศิลปากรสถานได้จัดทำขึ้นใหม่ วางเปรียบเทียบกับองค์ประกอบเดิมที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีพระวินิจฉัย “ทำไว้รูปร่างเก้งก้างเพราะไม่รู้ทรง แลฉลักเป็นนาคมีปากมีฟัน เป็นการทำเสียแรงเปล่าเห็นไม่ได้ ควรทำเปลี่ยนเสียใหม่ถากเอาแต่ทรง กับปลงตัวแต่พอเป็นรูป” ความน่าสนใจของพระวินิจฉัยนี้คือ การให้ลดทอนรายละเอียดขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ที่เป็นองค์ประกอบที่ติดตั้งในที่สูง ก็ไม่จำเป็นต้องทำละเอียด เพราะอย่างไรก็ไม่สามารถรับรู้ได้จากระยะไกล

ในนิทรรศการครั้งนี้ได้แสดงขั้นตอนการทำเครื่องทองแดงของนาคปักและบันแถลง และทดลองทำองค์ประกอบดังกล่าวขึ้นใหม่ในอัตราส่วน 1 : 2 โดยเริ่มจาก 1) การทำต้นแบบด้วยไม้สัก 2) การทำพิมพ์หรือทำแม่พิมพ์จากหุ่นต้นแบบด้วยปูนปลาสเตอร์ 3) การเข้าขี้ผึ้งในพิมพ์ หรืองานบุขี้ผึ้งในพิมพ์ 4) การเข้าดินในกับการเข้าดินนอก 5) การสุมหุ่นสำรอกขี้ผึ้ง และ 6) การตกแต่งชิ้นงานหล่อโลหะ


ชิ้นส่วนนาคปักและบันแถลงกะไหล่ทองที่ศิลปากรสถานได้จัดทำขึ้นใหม่ วางเปรียบเทียบกับองค์ประกอบเดิม
ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.


นาคปักเครื่องทองแดง ออกแบบใหม่โดยลดทอนให้เหลือเพียงเค้าโครงที่พอ ให้รู้ว่าเป็นนาค 3 เศียรเท่านั้น
ที่มา: สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ขั้นตอนการทำเครื่องทองแดงของนาคปักและบันแถลง เริ่มจากบนลงล่าง 1) การทำต้นแบบด้วยไม้สัก 2) การทำพิมพ์จากหุ่นต้นแบบด้วยปูนปลาสเตอร์ 3) การเข้าขี้ผึ้งในพิมพ์ 4) การเข้าดินในกับการเข้าดินนอก 5) การสุมหุ่นสำรอกขี้ผึ้ง และ 6) การตกแต่งชิ้นงานหล่อโลหะ
ที่มา: สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ทวยหงส์ “ผูกให้เปนลายมากกว่าให้เปนตัวนกจริง ๆ”

ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ได้พบภาพร่างรูปทวยหงส์ฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่ประทานแก่พระพรหมพิจิตรเพื่อให้นำไปเขียนขยายแบบ มีลายพระหัตถ์กำกับการขยายแบบว่า “ทวยหน้าบรรพจักรี จงพยายามผูกให้เปนลายมากกว่าให้เปนตัวนกจริง ๆ”

ชิ้นส่วนคันทวยหงส์ หน้าบันพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ที่พระพรหมพิจิตรได้ขยายแบบขึ้นตามพระดำรินี้ ปัจจุบันหลงเหลือตกทอดมาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 1 ชิ้น ซึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษ เสนอ นิลเดช ได้เล่าถึงที่มาของคันทวยชิ้นนี้ว่า “ทวยนี้อยู่ที่ศิลปากรมาตั้งแต่เดิม เพราะพระพรหมพิจิตร ซึ่งเป็นลูกมือสมเด็จครู มีหน้าที่สำคัญดูแลการซ่อมแปลงพระที่นั่งจักรีฯ คงจะนำมาเก็บไว้”

โปรดสังเกตการผูกลายคันทวยของพระพรหมพิจิตร ที่เป็นการคลี่คลายลายเส้นหงส์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มากกว่าทำให้เหมือนนกจริง ๆ อันเป็นเทคนิคการลดทอนรายละเอียดลงเพื่อให้เหมาะกับการมองเห็นได้จากระยะไกล


ทวยหงส์ ลายเส้นฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ที่มา: สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร


ทวยหงส์ หน้าบันพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ที่มา: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ทิ้งท้าย

มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย ไม่บ่อยครั้งนักที่จะพบว่า ปัญหาด้านการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้าง การปรับทรวดทรงภายนอกอาคาร และการลดทอนรายละเอียดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาพร้อมกัน และได้รับการออกแบบเชิงบูรณาการอย่างมีจินตนาการสร้างสรรค์ เช่นที่เกิดขึ้นกับสถาปัตยกรรม “ลูกผสม” แบบพระที่นั่งจักรี

“ความเป็นลูกผสม” ของพระที่นั่งจักรีในที่นี้จึงไม่ได้เป็นเพียงการซ่อมชฎาไทยที่สวมศีรษะฝรั่งและจบลงแต่เพียงแค่นั้น หากแต่ยังได้ รับการพัฒนาก้าวไปสู่ศาสตร์แห่งการผสมผสานศิลปวิทยาการข้ามวัฒนธรรมชนิดที่หากรณีใดเทียบได้ยาก


พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทภายหลังการซ่อมแปลง สังเกตยอดพระที่นั่งได้รับการออกแบบขึ้นใหม่ให้มีลักษณะที่รับกับอาคารตึก 3 ชั้นแบบตะวันตกมากขึ้น
ที่มา: ภ.0756 และ ภ.002 สบ.2 1-3, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.