เมื่อถูกถามว่า “มรดก” คืออะไร คำภาษาไทยคำนี้ที่คนไทยหรือผู้ที่รู้ภาษาไทยรู้จักและคุ้นเคยกันอย่างดี กลับได้รับคำตอบที่ไม่ได้มีแค่ มิติเดียว “มรดก ก็คือ ของที่แบบตกทอด สืบทอดต่อกันมา” “มรดก มรดกก็ของเก่านั้นล่ะ” “มรดกก็คือทรัพย์สมบัติของ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ต้นตระกูลทิ้งไว้ให้ ที่เขามีความผูกพัน เพราะถ้าเขาไม่ผูกพัน เขาไม่เรียกว่า มรดก” “สำหรับผม… มันคือของมีค่าที่เปี่ยมไปด้วยความรักนะครับ” และสำหรับบางคน “มรดกไม่จำเป็นต้องเป็นบ้าน เป็นที่ดิน หรือเป็นเพชรพลอย หรืออะไร มรดกทางปัญญา ก็ถือว่า เป็นมรดกอย่างหนึ่ง” “มรดกในครอบครัวที่ส่งต่อกันมา โดยที่ไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่เป็นองค์ความรู้ซึ่งพวกนี้ถ้าเกิดมันได้ส่งต่อกันอย่างดี มันคือมรดกล้ำค่าเลยแหละ” หลากหลายคำตอบที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้สืบทอดมรดกในปัจจุบัน และเป็นเจ้าของมรดกที่จะส่งต่อในอนาคต ฉายให้เห็นมิติความเป็นมาของมรดกในอดีต ความหมายของมรดกที่ได้รับการรักษามาสู่ปัจจุบัน และมองเห็นอนาคตที่จะดำรงอยู่ของมรดกสถาปัตยกรรม ที่ยอมรับการปรับเปลี่ยนตามธรรมชาติของการเวลา สภาวะของเศรษฐกิจ และสังคมในประเทศไทย และในโลก

1. เก๊าไม้เอสเตท จังหวัดเชียงใหม่
07.38 นาที
การรื้อฟื้นชีวิตของโรงบ่มใบยาสูบ มรดกที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนมาสู่คุณขัตติรัตน์ ทายาทรุ่นที่ ๒ โดยเริ่มจากอาคารโรงบ่มที่ได้รับการเก็บรักษาไว้ด้วยความผูกพัน แม้จะเลิกกิจการบ่มใบยาไปแล้ว การลองผิดลองถูกอย่างค่อยๆเป็น ค่อยๆมา จนพื้นที่แปลงนี้เกิดใหม่เป็น “เก๊าไม้ล้านนารีสอร์ท” ขึ้นเป็นโครงการแรก ความสำเร็จทีละก้าวตามมาด้วยความคิดที่จะพัฒนาพื้นที่เพื่อสาธารณะประโยชน์ พื้นที่ส่วนหลังที่ปกติรกร้างว่างเปล่าส่วนหนึ่ง ได้เปิดสู่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับพื้นที่นี้ “โครงการเอสเตท ๑๙๕๕” จึงเกิดขึ้นตามมา...

ใน พ.ศ. ๒๕๖๒ เก๊าไม้ล้านนา ได้รับรางวัลนิว ดีไซน์ อวอร์ด จากโครงการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม เอเชีย-แปซิฟิคจากยูเนสโก
2. เฮินไตลื้อแม่แสงดา จังหวัดพะเยา
06.05 นาที
แม่แสงดา สัมฤทธิ์ ปัจจุบันอายุ ๙๐ ปี เป็นเจ้าของเรือนไทลื้ออายุ ๗๓ ปี หลังเดียวที่ยังคงได้รับการดูแลรักษาในสภาพสมบูรณ์ ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ด้วยน้ำพักน้ำแรงของแม่แสงดาและครอบครัว ด้วยความช่วยเหลือของสล่าน้องชายที่เป็นช่าง ถึงแม้การอนุรักษ์จะมีราคาแพงกว่าการรื้อสร้างใหม่ และแม้จะไม่มีทุนสนับสนุนการอนุรักษ์เรือนไม้สักหลังนี้ที่สะท้อนรูปแบบกระบวนการสร้างบ้านของชาวไทลื้อดั้งเดิม แม่แสงดาก็ยืนยันที่จะซ่อมแซมดูแลเรือนหลังนี้จนกว่าชีวิตจะหาใหม่ เพราะความผูกพันต่อเรือนหลังนี้ของแม่แสงดามีมากกว่าการได้รับเป็นมรดก หากเริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งอายุ ๑๗ ปี...
3. บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กรุงเทพมหานคร
07.23 นาที
บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี สถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตก อายุร้อยยี่สิบเอ็ดปี มรดกที่ตกทอดมาสู่ คุณโจ พงศ์พรหม ยามะรัต เหลนของคุณทวด เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เจ้าของบ้านคนแรกผู้มีอุดมการณ์และปรัชญาที่ว่า “คนคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ สิ่งที่จะปฏิรูปประเทศได้ ณ ยุคนั้น(ยุครัชกาลที่หก) ก็คือการปฏิรูปที่คน ต้องทำให้คนมีปัญญา....” คุณโจ ตัดสินใจที่จะเลือกพัฒนามรดกสถาปัตยกรรมและที่ดินผืนนี้ตามแนวเจตนารมณ์ของคุณทวด การอนุรักษ์บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี จึงเป็นการมองพื้นที่เก่า สร้างประโยชน์ใหม่สู่พื้นที่สาธารณะที่เชื่อมโยงระหว่างไทยและต่างชาติ ทั้งวงใกล้และวงกว้าง......
4. สถานีรถไฟห้วยยาง จังหวัดชุมพร
12.27 นาที
เมื่อได้รับการขอให้ทำการสำรวจอาคารสถานีรถไฟสายใต้ ตั้งแต่นครปฐม ถึง ชุมพร รวม ๕๘ สถานี เพื่อเสนอต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางในการดำเนินการว่าจะทำอย่างไรดีกับอาคารเหล่านี้ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย ได้พานิสิตเดินทางไปสำรวจและเรียนรู้อาคารโครงสร้างไม้ที่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้วจากพื้นที่จริง ผลจากการสำรวจ ค้นคว้าประวัติศาสตร์ ค้นคว้าทุกอย่าง ทำให้อาคารเหล่านี้คือของดีที่ควรรักษาไว้ เพราะนี่คือต้นแบบของการออกแบบอาคารที่น่าสนใจที่สุด การใช้วัสดุที่ดีที่สุดในยุคร้อยปีที่แล้ว

สถานีรถไฟห้วยยาง จังหวัดชุมพร หนึ่งในมรดกของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นตัวอย่างสถานีรถไฟเก่าแก่ที่หลงเหลืออยู่ไม่มากนักในปัจจุบัน ได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบการอนุรักษ์สถานีรถไฟ ที่ผู้ทำการอนุรักษ์ เลือกใช้วิธี Refurbishing....
5. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จังหวัดนครปฐม
16.11 นาที
คุณโดม สุขวงศ์ ผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงก่อตั้งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จนสำเร็จในปัจจุบัน และสืบสานภารกิจในการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และในอนาคต เพื่อเป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลาน สำหรับคุณโดม ภาพยนตร์เป็นศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นสรณะ ดังคำขวัญที่ว่า “ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา” เพราะเห็นว่า ประโยชน์สูงสุดของภาพยนตร์ก็คือ การเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของมนุษย์

ภารกิจสืบสานมรดกทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับการบันทึกในรูปแบบของฟิล์มภาพยนตร์ จึงนำพาไปสู่กำเนิดหอภาพยนตร์ ที่เปรียบได้ว่าเริ่มจากวัดเล็กๆ จนมาเป็นอารามหลวง.....
6. บ้านสวนมิตรร่วมใจ จังหวัดราชบุรี
16.11 นาที
เมื่อคุณติ๊กเจ้าของบ้านอยากจะรื้อบ้านไม้ที่เป็นมรดกจากคุณตาคุณยาย บ้านที่เต็มเป็นไปด้วยความทรงจำที่ประทับใจตั้งแต่วัยเด็ก แล้วสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ตอบสนองกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน คุณติ๊กให้โจทย์กับสถาปนิกว่า จะต้องใช้ไม้เดิมทั้งหมด มาประกอบขึ้นใหม่ เพื่อให้ดำรงความรู้สึกของเรือนไม้เดิมให้ได้ สถาปนิกจุลพร นันทพานิช ผู้รับผิดชอบการสร้างบ้านใหม่จากบ้านเก่า จึงรับความท้าทายของโจทย์การอนุรักษ์แบบมองเก่า ให้ใหม่ รักษาอารมณ์และบรรยากาศของบ้านเดิมในเรือนใหม่ ด้วยแนวทางการทำงานที่ละเอียดลึกซึ้งกับอารมณ์ความรู้สึกของงานไม้ ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันกับช่างฝีมือ ท้องถิ่น และเจ้าของบ้าน...
7. บ้านเสงี่ยม-มณี จังหวัดสกลนคร
08.01 นาที
บ้านไม้ตะเคียนสามชั้นของอดีตศึกษาธิการอำเภอที่ชื่อ เสงี่ยม สมพงษ์ มีความโดดเด่นด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมและรายละเอียดที่ไม่เหมือนใคร เป็นหนึ่งมรดกสถาปัตยกรรมสำคัญของจังหวัดสกลนคร และเป็นมรดกแห่งความภูมิใจของลุงหมอ สุขสมัย สมพงษ์ อายุ ๖๘ ปี ทายาทรุ่นที่ ๒ ส่งต่อให้กับ คุณฟ้า อัชฌา สมพงษ์ ทายาทรุ่นที่ ๓ ดูแลรักษาต่อ การออกแบบบ้านรวมไปถึงองค์ประกอบอาคารที่ชวนฉงนของศึกษาเสงี่ยม เป็นโจทย์ที่คุณฟ้าและคุณธรรศ ใช้ความรู้จากการศึกษาด้านการ ออกแบบและอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ทำงานร่วมกัน มองเก่า ให้ใหม่ อนุรักษ์บ้านหลังนี้ไว้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองต่อไป...
8. วังพิพิธภักดี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
05.47 นาที
วาฤทธิ์ คาลิคกุล สถาปนิกคนสายบุรี ผู้เห็นอาคารวังพิพิธภักดี มาตั้งแต่จำความได้ สำหรับวาฤทธิ์ มรดกก็คือของมีค่าที่เปี่ยมไปด้วยความรัก วังพิพิธภักดี เป็นสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตก ที่มีอายุประมาณร้อยปี ถูกสร้างเพื่อเป็นเรือนหอของลูกหลานเจ้าเมือง พูดง่ายๆ ก็คือเป็นแค่บ้าน แต่ว่าด้วยลักษณะที่โดดเด่น แล้วก็สถาปัตยกรรมที่สวยงาม หลายคนจึงเข้าใจผิดว่าเป็นวัง เมื่อมีการประกาศขายอาคารมรดกหลังนี้ ด้วยความรักและความเสียดายหากอาคารจะถูกซื้อแล้วโดนรื้อทิ้ง ชมรมกลุ่มมุสลิมะฮ โดยมีแกนนำกลุ่มเป็นผู้หญิงขับเคลื่อนรวมพลังกันซื้อบ้านหลังนี้ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนที่นี่ คงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในชุมชนชาวสายบุรี......
9. เมืองเก่าสงขลา จังหวัดสงขลา คน กับ เมืองและการอนุรักษ์มรดก
16.33 นาที
เสน่ห์ของย่านเมืองเก่าสงขลาไม่ได้มีเพียงตึกรามบ้านช่องเก่าอันมีเอกลักษณ์ บางหลังผ่านการอนุรักษ์โดยคนรุ่นใหม่เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว แต่ยังมีมรดกวัฒนธรรมที่ผ่านการดำเนินกิจการที่สืบทอดดูแลจากรุ่นสู่รุ่น ความหลากหลายของผู้คนที่ดำเนินชีวิตรวมกันในย่านเมืองเก่า ต่างมีมุมมองและความเห็นต่ออนาคตการเป็นเมืองมรดกโลกของเมืองเก่าสงขลาทั้งที่เป็นแนวร่วมและขัดแย้ง การทำความเข้าใจกับหลายกลุ่มชน นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยภาคประชาชนที่หวังพัฒนาเมืองสงขลาเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเมืองแห่งความสุขของผู้คน และมีธงที่จะนำเมืองสงขลาสู่เมืองมรดกโลก จะต้องเผชิญ และ เพื่อหาจุดร่วมกันให้ได้....
10. ตุ๊หล่าง กับ มรดกจากแผ่นดินไทอีสาน
19.04 นาที
สำหรับตุ๊หล่าง (แก่นคำกล้า พิลาน้อย นักพัฒนาพันธุ์พืช หัวหน้ากลุ่มชาวนาไทอีสาน) มรดกที่มีอยู่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตจะเป็นเรื่อง ที่ดิน และองค์ความรู้เรื่องการจัดการพื้นที่ทางการเกษตร หรือองค์ความรู้ในการจัดการชีวิต เช่น ศาสนา ตุ๊หล่างก็มองว่าเป็นมรดก มรดกที่มีชีวิตก็จะเป็นเรื่องพันธุกรรมพืช พันธุ์ข้าว พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ตุ๊หล่างมีความตั้งใจที่จะเก็บรักษาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั้งหลายทั้งที่มีคุณภาพ และที่ไม่เหมาะที่จะปลูกแล้วในปัจจุบัน เพื่อตอบแทนคุณข้าวที่เคยหล่อเลี้ยงบรรพบุรุษเรามา ตลอดเส้นทางและกระบวนการรักษาพันธ์ข้าวพื้นเมืองที่ตุ๊หล่างเริ่มทำกับพ่อ ทำให้ค้นพบข้อดีหลายอย่างของพันธ์ข้าวพื้นเมือง รวมถึงการสร้างเครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างจริงจัง...
11. พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหารมรดกวิถีชีวิตของคนสามจังหวัด
07.12 นาที
สำหรับบางคน บางอย่างก็ไม่เห็นคุณค่า บางคนเอากริชไปแลกกับจานเก่าไม่กี่บาท แต่สำหรับผู้ใหญ่รัศมินทร์ และ นิฟาราช นิติธรรม ทายาทรุ่นที่ ๔ และ ๕ ของท่านขุนละหารประชาเชษฐ์ผู้ปกครองดูแลชุมชนบ้านกาเด็ง ตำบลละหาร ตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ ๕ ความผูกพันและซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้านั้นอยู่ในสายเลือด ทั้งสองให้ความสำคัญกับการเก็บรักษามรดกที่บรรพบุรุษสร้างไว้ แล้วสืบทอดส่งต่อกันมา ไม่วาจะเป็น เรื่องของวิถีการกิน ภูมิปัญญา ไปจนถึงของสะสมที่มีเรื่องราว เช่น ภาพวาด ภาพแกะสลัก และกริชแบบต่างๆ....
12. บ้านป้าฉิว ทองโบราณ จังหวัดเพชรบุรี
10.49 นาที
ตระกูลชูบดินทร์ หนึ่งในสามตระกูลช่างทองโบราณแห่งเมืองเพชรบุรี ยังคงมีการสืบทอดมรดกเรื่องการทำทองตระกูลช่างเมืองเพชร โดยเริ่มจากความชอบ ความสนใจของคุณยายฉิว เข้าเป็นลูกมือฝึกฝนเรียนทำทองตั้งแต่อายุ ๑๘ ในบ้านตระกูลชูบดินทร์ ด้วยวิธีการเรียนการสอนแบบช่างฝีมือที่ต้องใช้ทั้งการลงมือทำเอง ความอดทน และความซื่อสัตย์ เทคนิคและองค์ความรู้ที่ละเอียดอ่อน ซึ่งนับวันจะจางหายไปกับการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ยังได้รับการถ่ายทอดมาสู่ทายาทรุ่นที่ ๒ และ รุ่นที่ ๓ ของบ้านป้าฉิวในปัจจุบัน สำหรับอนาคตของมรดกการทำทองเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการตัดสิน เพราะไม่เพียงแต่การฝึกฝนด้านฝีมือ หากแต่รวมถึงอุปนิสัยของช่างทำทองเอง...
13. ภูคราม มรดกครามแห่งภูพาน
10.56 นาที
สำหรับคุณเหมี่ยว ปิลันธน์ ไทยสรวง ชาวอำเภอภูพาน โดยกำเนิด มองว่าภูมิปัญญาเป็นมรดกที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำเกษตร การอยู่ การกิน การหาอยู่ หากิน แม้กระทั่งการอยู่อาศัยที่เป็นปัจจัยสี่ และมรดกของคนภูพานก็คือ ธรรมชาติ แนวคิดทำงานของคุณเหมี่ยวในเรื่องของการทำผ้าย้อมครามและการออกแบบเสื้อผ้า จึงให้ความสำคัญกับการ อนุรักษ์ธรรมชาติในป่าภูพาน และ การอนุรักษ์วิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิมของพื้นที่ ทั้งสองอย่างนี้สะท้อนให้เห็นในผลงานเสื้อผ้าภูครามที่คุณเหมี่ยวออกแบบ รวมกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของช่างฝีมือในชุมชน...
14. บ้านไหมทองสะเร็น จังหวัดสุรินทร์
08.59 นาที
บ้านไหมทองสะเร็นเป็นหนึ่งในกลุ่มเรือนไหมใบหม่อน เลี้ยงไหมพันธุ์ไหมทองสะเร็นที่ทางกรมหม่อนไหมให้มา สำหรับคนสุรินทร์ ผ้าไหมมีคุณค่าและอยู่ในวิถีชีวิต ประเพณี ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ งานขึ้นเสาเอก เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต ปัจจุบันความที่ภาวะเศรษฐกิจ สังคมเปลี่ยนไป หลายคนเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น แต่ที่บ้านไหมทอง สะเร็นศูนย์เรียนรู้วิถีชุมชนคนกับไหม ยังคงการทำอาชีพเกี่ยวกับผ้าไหม และอนุรักษ์อัตลักษณ์ผ้าไหมสุรินทร์ รื้อฟื้นการ ทอแบบโบราณ เพื่อเป็นมรดกให้กับลูกหลาน...
15. พิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน จังหวัดนราธิวาส
09.17 นาที
คัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่คัดโดยลายมือ เป็นมรดกประเภทเอกสาร องค์ความรู้ที่ตระกูลของ มาหะมะลุตฟี หะยีสาแม เก็บรักษามาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ผู้เป็นโต๊ะครูเคยสอนและเขียนตำรา อีกทั้งยังเคยนำตำราของอาหรับจากเมกกะกลับมาเป็นแบบอย่างในการคัดต่อ นอกจากคุณค่าองค์ความรู้ในคัมภีร์ ความวิจิตรของลวดลายกรอบในคัมภีร์ที่มีความโดดเด่น ดึงดูดให้เกิดความสนใจแด่คนรุ่นหลังเป็นวงกว้าง ส่งผลให้การอนุรักษ์ซ่อมคัมภีร์โบราณที่เริ่มจาก ๑๓ เล่ม จนปัจจุบันพิพิธภัณฑ์มี คัมภีร์โบราณที่ชาวบ้านนำมาฝากให้ดูแลเป็นร้อยๆเล่ม....