๒๕๒๓

การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง
พ.ศ. ๒๕๒๓ – พ.ศ. ๒๕๒๕

  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ นับเป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญสูงสุด ทั้งในทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมของชาติ ดังปรากฏว่า พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ได้ทรงเป็นพระราชธุระในการบูรณปฏิสังขรณ์สร้างเสริมวัดพระศรีรัตนศาสดารามสืบต่อมาโดยลำดับ และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามลำดับ นับช่วงเวลาได้ประมาณทุกๆ ๕๐ ปี

  ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพ.ศ. ๒๕๑๙ รัฐบาลในสมัยนั้นได้ตระหนักว่ากรุงรัตนโกสินทร์จะมีอายุครบ สองร้อยปีในพ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้ร่วมกับภาคเอกชนดำเนินการเตรียมการเฉลิมฉลองสมโภชพระนครนับแต่นั้นมา ทั้งนี้ทางรัฐบาลได้คำนึงถึงโบราณราชประเพณีว่า การจัดการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์แต่ละคราวนั้น ย่อมมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามให้งดงามบริบูรณ์ ถวายเป็นศาสนบูชาแด่พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเป็นคราวใหญ่ทุกครั้ง จึงเห็นควรว่าในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ก็ควรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามตามโบราณราชประเพณีที่มีมา อันจักเป็นโอกาสในการที่จะอนุรักษ์ศิลปะสมบัติ ในด้านพุทธสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และประณีตศิลป์ต่างๆ อันเป็นแบบแผนทางการช่างศิลปะไทยชั้นสูงซึ่งตกทอดมาแต่อดีต ให้ดำรงอยู่เป็นที่ควรเชิดชูสำหรับบ้านเมืองสืบไป

  ในพ.ศ. ๒๕๑๙ รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้น ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านศิลปกรรมไทยสาขาต่างๆ เริ่มดำเนินงานในพ.ศ. ๒๕๒๐ จึงมีเวลาทำการบูรณปฏิสังขรณ์ให้สำเร็จเสร็จทันงานฉลองสมโภชพระนครนาน ๕ ปี จนถึงพ.ศ. ๒๕๒๓ เมื่อโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้นขยายวงกว้างขวาง ครอบคลุมทั้งพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยที่มีเวลาดำเนินการจำกัด รัฐบาลในสมัยนั้นจึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอำนวย การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง หรือเรียกตามอย่างโบราณว่า แม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ นับเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงดำรงตำแหน่งอันสำคัญยิ่งนี้ นับว่าเป็นพระราชภาระอันใหญ่ยิ่ง ด้วยเป็นกิจที่ต้องดำเนินการให้ลุล่วงไปให้ทันการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ก็ได้ทรงปฏิบัติงานเป็นองค์ประธานด้วยพระวิริยะ ทรงร่วมกำหนดแผนการบูรณะ การจัดหางบประมาณเพิ่มเติม พระราชทานพระราชวินิจฉัยแก้ปัญหาในการบูรณปฏิสังขรณ์ การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรง กำกับตรวจตราการทำงานของช่างทั้งหลายด้วยพระองค์เอง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ รวมทั้งสิ้น ๒๘ ครั้ง รายงานการเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจการปฏิสังขรณ์แต่ละครั้งต่างสะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพในศาสตร์แห่งการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทย ตลอดจนพิพิธภัณฑสถานวิทยาและศาสตร์เกี่ยวเนื่อง

"อาคารไหนมีการใช้งาน ต้องซ่อม ให้งดงาม มีความมั่นคงถาวร อาคารอื่นๆ
ที่ไม่ใช้ประกอบพิธี ซ่อมในลักษณะพิพิธภัณฑ์ รักษาแบบของเก่าให้ได้มากที่สุด"

  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเน้นการศึกษาค้นคว้าและวิจัย ให้ผู้บูรณะเข้าใจวัสดุก่อสร้าง ลักษณะทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของโบราณสถานให้ลึกซึ้งถี่ถ้วน ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้วัสดุใหม่ทดแทน โดยเฉพาะวัสดุสำคัญ เช่น กระจกเกรียบ ปูนปั้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงย้ำถึงความสำคัญของการบันทึกสภาพโบราณสถาน โบราณวัตถุ ก่อนการซ่อมแซมบูรณะใดๆ โดยการบันทึกภาพเก็บรายละเอียดและการจัดทำบัญชี เพื่อให้สามารถตรวจสอบมาตราส่วน เทียบสี รูปแบบ ลวดลาย ฯลฯ ได้เมื่อต้องการ

  แนวพระราชดำรินั้น อาจจำแนกได้เป็น ๕ ประเด็น คือ
๑. หลักการซ่อมบูรณะนั้น กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มีรับสั่งว่า การซ่อมบูรณะสําหรับโครงการนี้มีสองวิธี วิธีแรกสําหรับอาคารที่ยังใช้ประกอบพระราชพิธี เช่น พระอุโบสถ ปราสาทพระเทพบิดร ฯลฯ ให้ซ่อมให้ทั้งดูงดงามและมีความมั่นคงถาวร วิธีที่สอง สําหรับอาคารอื่นๆ ที่มิได้ใช้ประกอบพระราชพิธี ให้ซ่อมให้อยู่ในลักษณะพิพิธภัณฑ์ ให้รักษาแบบอย่าง ของเก่าให้มากที่สุดเท่าที่ทําได้

  ๒. ด้านของความแท้นั้น หากสิ่งใดที่มีการซ่อมโดยการเปลี่ยนของใหม่ ก็มีพระราชดําริให้รักษาของเก่าไว้ส่วนเล็กๆ ส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบวัสดุ ลวดลาย และสี ใน ภายหลัง เช่น กระจกสีที่เสาพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพยายามในการหากระจกเกรียบ หรือกระจกที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ามาใช้ในการอนุรักษ์ เมื่อไม่สามารถที่จะจัดหาได้ ก็ทรงโปรดให้เก็บเสากระจกเกรียบสี่ต้นหลังพระอุโบสถไว้ เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบในอนาคต ที่พระวิหารยอด เมื่อทำการบูรณะ มีการพบชั้นของผนังที่มีการประดับลวดลายแก้วชิงดวง และรอยเส้นครู ก็มีพระราชดําริ ให้อนุรักษ์ผนังทางทิศตะวันออก เว้นไว้หนึ่งช่วงผนัง ไม่ต้องฉาบปูนทับ แต่ปิดกระจกใส แสดงรอยครูไว้ เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาวิธีโบราณ จะได้เห็นของจริง หากสิ่งใดที่มีการซ่อมบูรณะจนมีความเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิม ก็โปรดให้ทำกลับสู่สภาพเดิม เพื่อให้เห็นถึงความแท้ของสิ่งของเหล่านั้น ดังเช่น รูปหล่อโลหะสัตว์หิมพานต์ ที่ด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร

  ๓. ในด้านเทคนิคการอนุรักษ์สมัยใหม่ ทรงสนับสนุนการนำเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ในการอนุรักษ์ เช่น การถ่ายภาพด้วยกล้องโฟโตแกรม โปรดให้กรมศิลปากร ร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเทคนิคโฟโตแกรมมาใช้ ซึ่งเป็นเทคนิคการเก็บข้อมูล ที่ไม่สร้างผลกระทบกระเทือนต่อโบราณสถาน ในการอนุรักษ์จิตรกรรม ก็ทรงจัดหาเปเปอร์เพาว์ Paper Pulp จากประเทศอิตาลี มาใช้ในงานบูรณะงานจิตรกรรมในพระอุโบสถ เพื่อดูดความเค็ม และลดความชื้น ก่อนจะทำการอนุรักษ์ในขั้นตอนต่อไป

  ๔. ในเรื่ององค์ความรู้ ทรงเน้นย้ำถึง ความสําคัญของการบันทึกสภาพโบราณสถาน โบราณวัตถุ ก่อนการซ่อมแซมบูรณะใดๆ การบันทึกภาพเก็บรายละเอียดและการจัดทําบัญชี และการทำจดหมายเหตุ เพื่อเป็นองค์ความรู้สำหรับผู้ที่สนใจ และเป็นประโยชน์ต่อการบูรณะในอนาคต โปรดให้พิมพ์ หนังสือนำชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ หนังสือนำชมพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อให้ความรู้กับผู้ที่เข้ามาชม ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีจุดประสงค์ไม่เพียงแต่เป็นที่เก็บของมีค่า แต่ให้เป็นแหล่งค้นคว้า เกี่ยวกับวิวัฒนาการการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยใช้หุ่นจำลอง ภาพถ่ายเก่า แสดงถึงเทคนิคช่าง วัสดุและการเปลี่ยนแปลงในนแต่ละยุคสมัย พวกเครื่องลำยองต่างที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ก็ให้บูรณะแล้วนำเข้าเก็บในพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฯ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาให้กับผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมชม

  ๕. และเมื่อมีการซ่อมบูรณะอาคารแล้ว ก็ไม่โปรดให้ซ่อมทิ้งเปล่า แต่ให้มีการใช้งานด้วย เช่น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ อาคารพระตำหนักสวนกุหลาบเดิม เมื่อมีการบูรณะขึ้น ก็โปรดให้จัดทำเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบขึ้นมาใหม่ ให้เด็กๆได้เข้ามาศึกษา เป็นการใช้ประโยชน์อาคาร ไม่เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ

  ด้วยพระวิริยะและพระอัจฉริยภาพ ตลอดจนความสามารถในการบริหารงานก่อสร้างและงานบุคคลในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ คณะกรรมการอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง จึงสามารถดำเนินงานตามโครงการฯ ไปจนแล้วเสร็จทันการสมโภชฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้า พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตามอุดมมงคลฤกษ์ ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕