๒๕๒๐

อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.๒)
พ.ศ. ๒๕๒๐ - ปัจจุบัน

  โครงการแรกเริ่มในการทรงงานด้านการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี คือ โครงการอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.๒) ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นสถานที่พระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ศิลปวัฒธรรมไทย เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และเพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๒ โดยมีพระราชสมุทรเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร ได้กรุณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินของวัดประมาณ ๑๑ ไร่ ทางทิศตะวันตกของบริเวณพระอารามเพื่อดำเนินการก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ฯ ขึ้น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริเกี่ยวกับอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ฯ ประกอบด้วย อาคารทรงไทยหมู่ใหญ่อย่างเรือนคหบดีจัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และหอสมุด “เรือนฤทัยสรรค์” เรือนไทยเครื่องสับ ๔ หลัง ออกแบบโดยรองศาสตราจารย์ ฤทัย ใจจงรัก อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม วางผังบริเวณและโรงละครกลางแจ้ง “กฤษฎารณฤทธิ์” โดยร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา

  เรือนไทย ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ ๒ สะท้อนถึงพระราชนิยมในการจัด พิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา และการอนุรักษ์ศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ควบคู่กันไปด้วย เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่พักอาศัยซึ่งได้ปรับประยุกต์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และแล้วเสร็จในพ.ศ. ๒๕๒๘ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีบทบาทสําคัญในการบริหารงานโครงการ ตลอดจนการหาทุนเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างอุทยานมาโดยตลอด และเสด็จพระราชดําเนินทรงเป็น ประธานในพิธีเปิดอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๘ และเปิดให้ ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ ตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นต้นมา

  ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้คณะกรรมการดำเนินงานมูลนิธิฯ ดำเนินการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม โดยให้เขียนจิตรกรรมตามแบบแผนจิตรกรรมไทยประเพณีแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเขียนเรื่อง พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, ภาพกรุงรัตนโกสินทร์สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, วรรณคดีสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, ไม้ดัด ซึ่งการเขียนจิตรกรรมนำโดย จุลทรรศ์ พยัฆรานนท์ และ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ดําเนินการก่อสร้าง “เรือนอาวุธสร้าง” เป็นเรือนทรงไทยคอนกรีต หมู่ ๙ หลัง โดยศาสตราภิชาน พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ตั้งอยู่ถัดมาทางด้านแม่น้ำแม่กลอง

  ตราบถึงปัจจุบันนี้ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยแก่ประชนทั่วไป ตามวัตถุประสงค์และพระราชดำริจวบจนปัจจุบัน

การจัดการแสดงนาฏศิลป์ ชุด อาศิรวาทราชสดุดี 1 ก.พ. 63